โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยความร่วมมือกันในหมู่บริษัทเอกชนร่วมมือกันปฏิเธการจ่ายสินบนทุกรูปแบบและต่อต้านการใช้คอร์รัปชัน
รายละเอียดกระบวนการรับรอง
1. วัตถุประสงค์
โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันด้วยความร่วมมือกันในหมู่บริษัทเอกชนที่ต้องการสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐ โดยร่วมมือกันปฏิเธการจ่ายสินบนทุกรูปแบบและต่อต้านการใช้คอร์รัปชันเป็นเครื่องมือกีดกันการแข่งขันและขัดขวางการประกอบธุรกิจอย่างเสรี
ดังนั้น บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ CAC จึงรวมตัวกันเพื่อช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเริ่มต้นจากภายในบริษัทแต่ละแห่ง ที่จะกระทำพันธกิจ 3 ข้อตามที่ได้ประกาศเจตนารมย์ไปพร้อมกัน
ซึ่งขั้นแรกของการลงมือช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของบริษัทเอกชนคือ การจัดทำนโยบายและวางระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมตามความเสี่ยงคอร์รัปชันของธุรกิจ
โดยบริษัททุกแห่งที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC จะต้องจัดทำหรือสอบทานระบบควบคุมภายในของตนเองตามแนวทางที่กำหนดในแบบประเมินตนเอง (71 ข้อ) และให้บุคคลที่สาม (ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ก่อนจะยื่นขอรับรองมาที่คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ (CAC Council) เพื่อพิจารณาให้การรับรอง
2. ประโยชน์ที่จะได้จากการรับรองของ CAC
- ป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงและบทลงโทษตามกฎหมายต่างๆ
- ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาในภาคธุรกิจของไทย
- ผสานความซื่อสัตย์เข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรและแสดงออกผ่านผลการทำงาน
- เพิ่มความน่าเชื่อถือในเรื่องความซื่อสัตย์ให้แก่บริษัท
- สร้างพื้นที่การแข่งขันธุรกิจที่เป็นธรรมในภาคอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทใช้ความสามารถในการแข่งขัน
- ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กรต่อไป
- ดึงดูดนักลงทุนและรักษาเงินลงทุนในบริษัทระยะยาว
3. เกี่ยวกับแบบประเมินตนเอง
แบบประเมินตนเองของ CAC (71ข้อ) ได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากแบบประเมินตนเองขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากล (Transparency International) ที่ชื่อ “Business Principles for Countering Bribery” ซึ่งมีตัวชี้วัด 241 ข้อ โดย IOD ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ ได้ร่วมมือกับ PwC ในการพัฒนาและแปลแบบประเมินตนเองเป็นภาษาไทย รวมทั้ง ปรับให้เหมาะสมต่อบริบทการพัฒนาของบริษัททุกขนาดในภาคเอกชนไทย
แบบประเมินตนเองที่โครงการ CAC จัดทำนี้มีตัวชี้วัดทั้งหมด 71 ข้อ โดยมีตัวชี้วัด ภาคบังคับ 58 ข้อ ซึ่งบริษัทที่ต้องการได้รับการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติฯ จะต้องตอบว่า “ใช่” ครบทุกข้อในภาคบังคับ
ปัจจุบัน แบบประเมินตนเองที่ใช้สำหรับยื่นขอรับรองคือ เวอร์ชั่น 2.0 สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ ตารางแสดงผลประเมินความเสี่ยงคอร์รัปชัน ที่บริษัทควรแสดงผลประเมินความเสี่ยงคอร์รัปชันอย่างน้อย 3 ข้อ หรือมากกว่า 3 ข้อก็ได้ นอกนั้น เนื้อหาคำถามใน 71 ข้อยังคงเหมือนกับเวอร์ชั่นแรกทุกประการ
4. ขั้นตอนการยื่นขอรับรอง
สำหรับบริษัทที่จะยื่นขอรับรอง โปรดศึกษาขั้นตอนแลรายละเอียดการยื่นขอรับรองจากโครงการ CAC ดังต่อไปนี้
4.1 บริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ CAC จะต้องยื่นขอรับรองภายในระยะเวลา 18 เดือนนับตั้งแต่วันที่ลงนามประกาศ (ระยะเวลา 18 เดือนนับเฉพาะบริษัทยื่นขอรับรอง ไม่รวมระยะเวลาพิจารณา)
4.1.1 กรณีที่บริษัทไม่สามารถยื่นขอรับรองได้ภายในระยะเวลา 18 เดือน บริษัทสามารถยื่นขอขยายระยะเวลาต่อคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ โดยมีระยะเวลาขยายได้สูงสุดไม่เกิน 6 เดือน
4.1.2 กรณีที่บริษัทไม่ยื่นขอรับรองภายในระยะเวลา 18 เดือนหรือตามที่ขอขยายเวลา บริษัทก็จะถูกเว้นวรรคการ (Black Out period) เป็นระยะ 6 เดือนนับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดการยื่น ทั้งนี้ บริษัทสามารถประกาศเจตนารมณ์กลับเข้าร่วมโครงการได้อีกครั้งเมื่อพ้นระยะเว้นวรรค
4.2 บริษัทที่ยื่นขอรับรองภายในระยะเวลา 18 เดือน ให้ดำเนินการตามขั้นต่อไปนี้
4.2.1 บริษัทจัดทำเอกสารอ้างอิงและตอบแบบประเมินตนเองให้ครบทุกข้อ โดยให้ประธานกรรมการบริษัทและผู้ตรวจสอบแบบประเมินตนเองลงนาม (ประธานกรรมการตรวจสอบหรือ หากเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องทำจดหมายรายงานผลการสอบทาน)
ซึ่งบริษัทสามารถเลือกใช้ผู้สอบทานได้ 3 แบบ ได้แก่
A) ให้ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติตามนิยามของ ก.ล.ต. เป็นผู้สอบทาน
ทั้งนี้ คุณสมบัติประธานคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ต้องมีคุณสมบัติเป็นกรรมการอิสระ ดังนี้
- กรณีเป็นบริษัทจดทะเบียนคณะกรรมการตรวจสอบจะต้องมีคุณสมบัติตามนิยามของ ก.ล.ต
- กรณีไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียน คณะกรรมการตรวจสอบต้องเป็นกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารของบริษัท (Non-Executive Director: NED)
และ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นคนละบุคคลกับประธานกรรมการบริษัทที่ลงนามรับรองแบบประเมินตนเอง
B) ให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทเป็นผู้สอบทาน
C) ให้ผู้สอบบัญชีภายนอกผู้อื่น (External auditors) เป็นผู้สอบทาน จะต้องเป็นบริษัทผู้สอบบัญชีภายนอกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนของ ก.ล.ต. เท่านั้น
4.2.2 การชำระค่าธรรมเนียมยื่นขอรับรอง
ด้วยในปัจจุบันกระบวนการยื่นขอรับรองได้พัฒนาขั้นตอนการพิจารณาที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น โดยบริษัทที่จะยื่นแบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อขอรับรองจากคณะกรรมการฯ นั้น จะต้องแนบเอกสารหลักฐานอ้างอิง ให้แก่คณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) เป็นผู้พิจารณา
ซึ่งขั้นตอนการพิจารณานี้ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 จนปัจจุบัน และปรากฏว่ามีบริษัทให้ความสนใจยื่นขอรับรองมากขึ้นทุกไตรมาส ส่งผลให้ระยะเวลาการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแบ่งเบาปริมาณงานตรวจสอบเอกสาร และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงระบบควบคุมภายในให้แก่บริษัทต่างๆ โดยโครงการแนวร่วมปฏิบัติฯ ได้รับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอาไว้เอง จึงมีความจำเป็นที่ทางโครงการจะต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อโครงการในระยะยาว
ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้เก็บค่าธรรมเนียมการยื่นขอรับรองจากบริษัท เป็นจำนวน 8,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป
ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวครอบคลุมค่าใช้จ่ายการสอบทานเอกสารเพื่อขอพิจารณารับรองในรอบไตรมาสนั้นและสิทธิแก้ไขเอกสารตามข้อแนะนำจากคณะกรรมการฯ โดยค่าธรรมเนียมการยื่นขอรับรองนี้ไม่ถือเป็นการรับรองผลการพิจารณาให้การรับรองแก่บริษัท และไม่สามารถเรียกคืนได้
โปรดติดต่อฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ ทางอีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. เพื่อขอใบแจ้งหนี้ ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันทำการ ก่อนการส่งเอกสารยื่นขอรับรอง
วิธีการชำระเงิน
1. สั่งจ่ายด้วยเช็คขีดคร่อมเข้าบัญชี ในนาม "สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย" หรือ
2. โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี "สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาวิทยุ เลขที่บัญชี 049-4-034-25-5
หมายเหตุ *ทางบริษัทไม่สามารถขอหักภาษีณ ที่จ่าย 3% ได้เนื่องจากองค์กรจดทะเบียนในนามสมาคม ตามข้อ 8(2) ตามคำสั่งอธิบดีกรมสรรพากร ที่ทป.4/2528 ลงวันที่ 26 ก.ย. 2528 และทป. ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2544
4.2.3 บริษัทต้องตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารที่ใช้ยื่นขอรับรอง โดยใช้แบบฟอร์ม "รายการตรวจเอกสารก่อนยื่นขอรับรอง" ซึ่งมีให้ Download ในหน้ายื่นขอรับรอง และจัดส่งมาพร้อมกับเอกสารยื่นขอรับรอง
4.2.4 จัดส่งแบบประเมินตนที่ลงนาม (ฉบับจริง) พร้อมแผ่นซีดีรอมเอกสารอ้างอิง ที่ใช้ตอบ 71 ข้อ มาที่สำนักงาน IOD
เรียน ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ (CAC)
ที่อยู่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
อาคารวิทยาการตลาดทุน อาคาร 2 ชั้น 3
2/9 หมู่ที่ 4 (โครงการนอร์ธปาร์ค) ถนนวิภาวดีรังสิต
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
ทั้งนี้ การจัดทำรายการเอกสารอ้างอิง บริษัทควรดำเนินการ ดังนี้
ระบุเฉพาะเลขกำกับเอกสารอ้างอิงและ เลขหน้า ลงในช่อง “หลักฐานอ้างอิง” ของแบบประเมินตนเองเท่านั้น ตัวอย่าง “เอกสารอ้างอิง หมายเลข 1, หน้า 10-12.” เป็นต้น
จัดทำเอกสารอ้างอิงที่ใช้ตอบแบบประเมินตนเอง ในรูปแบบ E-document จัดเก็บในแผ่นซีดีรอม
จัดทำตารางดัชนีรายการเอกสารอ้างอิง (แยกออกมาจากแบบประเมินตนเอง) เพื่อความสะดวกในการสืบค้น หรือหากบริษัทต้องการอธิบายข้อมูลเพิ่มเติมใดให้กรอกในส่วนนี้
ข้อมูลอ้างอิงใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตอบคำถาม ไม่จำเป็นต้องใส่มาทั้งหมด หรือ ใส่เผื่อไว้ให้มากๆ เพราะจะทำให้ผู้ตรวจหาข้อมูลที่บริษัทตอบคำถามไม่พบหรือพบแต่ข้อมูลที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลต่อการประเมินผลของบริษัท
สำหรับบริษัทที่วางแผนจะยื่นขอรับรอง ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป นอกจากบริษัทยังต้องส่งแบบประเมินตนเองพร้อมเอกสารอ้างอิงแล้ว บริษัทจะต้องจัดทำกระดาษทำการ (Working Paper) ของผู้สอบทานแบบประเมินตนเองของบริษัทมาด้วย โดยกระดาษทำการจะกำหนดขอบเขตและวิธีการงานสอบทานแบบประเมินตนเองสำหรับผู้ตรวจสอบภายใน หรือ ผู้สอบบัญชี
โครงการ CAC ได้ร่วมมือกับสภาวิชาชีพบัญชี จัดทำหลักสูตรอบรม “กระดาษทำการเพื่อมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในองค์กร” ท่านที่สนใจสามารถติดต่อสภาวิชาชีพบัญชีฯ เพื่อขอทราบรายละเอียดการสมัครได้ที่ โทรศัพท์ 02-685-2500
5. ระยะเวลาการยื่นขอรับรอง
กำหนดปิดรับการยื่นขอรับรองจะเป็น ทุกวันที่ 15 ของเดือนที่สิ้นไตรมาส ได้แก่วันที่ 15 มีนาคม / 15 มิถุนายน / 15 กันยายน / 15 ธันวาคม
- ทั้งนี้ ระยะเวลายื่นขอรับรองภายใน 18 เดือนจะหยุดนับก็ต่อเมื่อบริษัทยื่นเอกสารขอรับรอง จากนั้น กรอบระยะเวลาจะเป็นไปตามกระบวนการพิจารณา ซึ่งไม่ส่งผลต่อวันหมดอายุการยื่นขอรับรองของบริษัทแต่อย่างใด
- ในกรณีที่บริษัทยื่นขอรับรองและคณะกรรมการ CAC มีมติให้บริษัทนำเอกสารกลับไปแก้ไขหรือปรับปรุงเพิ่มเติม คณะกรรมการ CAC จะกำหนดระยะที่บริษัทจะต้องส่งเอกสารกลับมาพิจารณาเป็นรายกรณี
จากนั้น ฝ่ายเลขานุการฯ จะรวบรวมและตรวจสอบความสมบูรณ์ของเอกสารที่บริษัทจัดส่งมา เพื่อนำเสนอขอความเห็นต่อคณะกรรมการพิจารณารับรอง (Certification Committee) และเมื่อได้ข้อสรุปจึงนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติให้การรับรอง
โดยขั้นตอนพิจารณานี้จะใช้ระยะเวลา ไม่เกินหนึ่งเดือนครึ่งนับจากวันที่ปิดรับ และจะแจ้งผลการพิจารณาผ่าน Email ถึงผู้ประสานงานของบริษัทเท่านั้น
สำหรับบริษัทที่เอกสารไม่สมบูรณ์ คณะกรรมการพิจารณารับรองจะแจ้งให้บริษัทรับทราบ ผ่าน Email และให้บริษัทปรับปรุงข้อมูลเพื่อนำส่งในรอบพิจารณาถัดไป
สำหรับกรณีที่บริษัทปรากฎข่าว คดีความ หรือถูกสอบสวนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและติดสินบน ที่กระทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ภายในระยะ 2 ปีก่อนการยื่นขอรับรอง การยื่นขอรับรองของบริษัทนั้นจะถูกระงับพิจารณา และบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ ( Incident Management ) ทั้งนี้ คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯ มีสิทธิเปลี่ยนแปลงสถานะของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ CAC
6. การยื่นต่ออายุ
ใบประกาศรับรองที่บริษัทได้รับจะมีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติฯอนุมัติ โดยบริษัทที่จะยื่นต่ออายุใบรับรอง (Recertification) จะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการรับรองและควรยื่นขอรับรองก่อนวันหมดอายุล่วงหน้า 3 เดือน โดยปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการรับรองตามที่ CAC ใช้อยู่ ณ เวลานั้น
7. การสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ด้วยปัจจุบัน มีบริษัทให้ความสนใจจัดทำแบบประเมินตนเองมากขึ้น และมีผู้แทนของบริษัทสอบถามคำถามเกี่ยวกับการตอบแบบประเมินตนเองจำนวนมาก ฝ่ายเลขานุการโครงการ CAC ขอเรียนว่า การสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำเอกสารเพื่อตอบแบบประเมินตนเองนั้น เป็นความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารบริษัทที่เป็นผู้ตัดสินใจว่าข้อมูลที่ใช้ตอบในแต่ละข้อเพียงพอและเหมาะสมหรือไม่
ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการโครงการ CAC จะให้คำตอบเฉพาะรายละเอียดกระบวนการยื่นขอรับรองเท่านั้น
เมื่อบริษัทยื่นเอกสารขอรับรองเข้ามาที่ฝ่ายเลขาฯ CAC แล้ว จะใช้เวลา 6-8 สัปดาห์โดยประมาณ เพื่อพิจารณาเอกสารของบริษัทและฝ่ายเลขาฯ CAC จะแจ้งผลการพิจารณาให้บริษัททราบทาง Email
ที่มา : CAC
หากท่านสนใจบริการ ตรวจสอบภายในธรรมนิติ (DIR) มีดังนี้
- บริการงานตรวจสอบภายใน(IA)
- บริการงานประเมินระบบการควบคุมภายใน(IPO)
- บริการการประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น(CAC)
- บริการงานสอบทานและประเมินความเชื่อมั่นในคุณภาพงานตรวจสอบภายใน (QAR)
- งานตรวจสอบการควบคุมทั่วไป (IT General Control)
- งานตรวจสอบการควบคุมระบบงาน (IT Application Control)
- งานประเมินความพร้อมตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Preparedness of Cyber Security)
- งานประเมินความพร้อมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Data Protection Act, PDPA)
- บริการงานพัฒนาระบบ
- บริการจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจ (Business Development)
- บริการงานบริหารความเสี่ยง (ERM)
- บริการงานรายงานความยั่งยืน (Sustainability report)
- บริการงานโครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure)
- บริการงานตรวจสอบตามความต้องการของลูกค้า
สามารถติตต่อได้ที่
เบอร์ : 02-596-0500 ต่อ 327 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
บริษัทตรวจสอบภายในธรรมนิติ (DIR) ยินดีให้บริการครับ