ข่าวสาร

| วันพฤหัสบดี, 20 เมษายน 2566 |
Written by 

SME Certification โครงการรับรองบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก

ปัจจุบันนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการยกระดับมาตรฐานให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก (กลุ่มธุรกิจ SME) ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีโครงการที่น่าสนใจ คือ 

โครงการ CAC SME Certification ถูกริเริ่มจาก Thai Private Sector Collective Action Against Corruption หรือ CAC เพื่อเสริมสร้างแนวร่วมต่อต้านการให้และรับสินบนในภาคเอกชน โดยได้นำประสบการณ์จากการดำเนินการโครงการรับรองบริษัทขนาดใหญ่มาต่อยอด โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางทุนจาก Center for International Private Enterprise และกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย

 

วัตถุประสงค์

เพื่อเสริมสร้างแนวร่วมต่อต้านการให้และรับสินบนในภาคเอกชน โดยได้นำประสบการณ์จากการดำเนินการโครงการรับรองบริษัทขนาดใหญ่มาต่อยอด ซึ่งกลุ่มธุรกิจ SME ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้คือ บริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่ไม่อยู่ภายในการควบคุมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี 

 

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาร่วมโครงการ

  • มีระบบการดำเนินงานที่โปร่งใส

  • ยกมาตรฐานการทำงานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้ารายใหญ่และคู่ค้าต่างชาติ

  • ลดความเสี่ยงในการถูกเรียกรับ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เคยจ่ายเป็นค่าสินบน

  • ลดความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเอาผิดทั้งผู้ให้ และองค์กรที่ให้สินบน

 

นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และพนักงาน สามารถเข้าใจถึงวิธีสร้างระบบภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน โดยการเข้าร่วมฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รับทราบถึงขั้นตอนการร่างนโยบาย วิธีการประเมินความเสี่ยง การร่างมาตรการควบคุมและข้อปฏิบัติ การวางโครงสร้างภายในอื่น ๆ เช่น ระบบการสื่อสารให้พนักงานรับทราบ ระบบการแจ้งเบาะแส

จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าโครงการ CAC SME Certification นั้น มีประโยชน์ ต่อบริษัท สามารถทำให้บริษัท พัฒนา และเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้าได้ รวมทั้งทำให้บริษัทมีการควบคุมภายในที่เพียงพอในการป้องกันความเสี่ยงจากการคอร์รับชันได้อีกด้วย

สามารถสรุป ขั้นตอนการขอรับรอง แบบย่อ ดังนี้ 

 

 

1. ขั้นตอนการตัดสินใจควรเป็นการขออนุมัติจากคณะกรรมการของบริษัทอย่างชัดเจน

2. ขั้นตอนการประกาศเจตนารมณ์ประธานกรรมการหรือ CEO ลงนามในใบประกาศเจตนารมณ์

3. ขั้นตอนการเตรียมยื่นขอรับรองเตรียมทุกอย่างให้พร้อมภายใต้ Checklist ทั้ง 17 ข้อ

4. ขั้นตอนการยื่นขอรับรอง ผู้ที่สามารถเป็นผู้รับรองในการยื่นได้ประกอบด้วย 1) ประธานกรรมการ

ตรวจสอบของบริษัท (ถ้ามี) 2) ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท ปีปัจจุบัน 3) ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตราย อื่นๆ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. 4) สำนักงานตรวจสอบภายใน (บริษัท) โดยผู้ลงนามต้องมี CER CIA หรือ CER CPIAT

ทั้งนี้การยื่นเอกสาร Checklist ภายใน 18 เดือนนับตั้งแต่วันที่ประกาศเจตนารมณ์ และยื่นขอต่ออายุการรับรองเมื่อครบ 3 ปี โดยต้องยื่นขอต่ออายุล่วงหน้า 3-6 เดือนก่อนการรับรองจะหมดอายุ

 

วิธีการสมัครและการขอรับรอง ซึ่งสรุปจากทาง CAC โดยมีรายละเอียด ดังนี้

บริษัท SME ที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ 

1. บริษัท SME ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทอยู่ในเกณฑ์การเข้าร่วม CAC SME Certification หรือไม่ โดยพิจารณาจากเงื่อนไข ดังนี้

  • บริษัทต้องไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

  • บริษัทต้องไม่อยู่ภายในการควบคุมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

  • รายได้ต่อปีน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

  • ถ้าบริษัทผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อแล้ว สามารถแจ้งลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วม SME Executive Briefing โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ถ้าไม่ผ่านคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด บริษัทจะต้องขอรับรองตามกระบวนการรับรองของบริษัทใหญ่ CAC (แบบประเมินตนเอง 71 ข้อ) อย่างไรก็ตาม หากบริษัท SME มีความประสงค์ที่จะเข้าโครงการเพื่อขอรับรองของบริษัทใหญ่ก็สามารถทำได้ โดยดำเนินการสมัครเข้าร่วมตามปกติ

2. CEO หรือเจ้าของธุรกิจ SME ที่สนใจจะประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ ต้องเข้าร่วมรับทราบข้อมูลก่อนลงนาม โดยแจ้งลงทะเบียนเข้าร่วม SME Executive Briefing ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำ โดยในงานนี้จะทำให้ท่านทราบถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการ CAC SME Certification และภายหลังการรับฟังแล้ว CEO หรือเจ้าของธุรกิจ SME จึงจะสามารถลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการได้

3. หลังประกาศเจตนารมณ์ บริษัท SME จะมีเวลา 18 เดือนเพื่อยื่นขอรับรอง โดยจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่วันที่บริษัทลงนามประกาศเจตนารมณ์จนถึงวันที่ผู้รับรองอิสระให้การรับรอง Checklist ทั้ง 17 ข้อ

4. ในระหว่างที่บริษัทเตรียมการเพื่อยื่นขอรับรอง โครงการ CAC จะจัด SME Clinic เพื่อเปิดช่องทางให้คำแนะนำหรือตอบข้อซักถามที่บริษัทพบระหว่างการตอบแบบประเมินตนเอง 17 ข้อ และการจัดทำเอกสารอ้างอิงประกอบ โดยการเข้าร่วม SME Clinic นี้ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการได้รับการรับรอง และมีค่าใช้จ่าย

5. เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานบริษัท โครงการ CAC ได้จัดทำหลักสูตร SME Anti-Bribery E-learning โดยบริษัท SME ที่ประกาศเจตนารมณ์แล้วจะได้รับสิทธิส่งพนักงานเข้าอบรมผ่านระบบ Online และพนักงานที่เข้าอบรมต้องผ่านบททดสอบทั้งหมด จึงจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตร

6. เมื่อบริษัทจัดเตรียมเอกสารขอรับรองครบถ้วนแล้ว สามารถส่งยื่นขอรับรองทาง online ได้ โดย CAC จะปิดรับเอกสารที่บริษัทยื่นขอรับรองในแต่ละไตรมาสในวันที่ 31 มีนาคม, 30 มิถุนายน, 30 กันยายน , 31 ธันวาคม

7. หลังจากที่ทางบริษัท SME ได้จัดทำเอกสารอ้างอิง Checklist เสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถทำการ upload เอกสารทั้งหมดผ่านทางเว็บไซต์ของ CAC และบริษัทก็จะสามารถมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบอิสระให้เข้าตรวจสอบได้

8. ทางบริษัท SME จะมีเวลา 18 เดือนในการยื่นขอรับรอง โดยจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่วันที่บริษัทลงนามประกาศเจตนารมณ์จนถึงวันที่ผู้ตรวจสอบอิสระให้การรับรองเอกสารอ้างอิง Checklist ทั้ง 17 ข้อ ทาง CAC คิดค่าใช้จ่ายในการรับรองเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท โดยบริษัท SME สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขอ invoice ภายหลัง

9. หลังจากที่ทางผู้ตรวจสอบอิสระได้รับรองเอกสารอ้างอิงทั้งหมดแล้ว ทาง CAC จะทำการสุ่มตรวจสอบเอกสารอีกทีและอาจมีการเข้าเยี่ยมบริษัทเพื่อตรวจสอบระบบการทำงาน

10. CAC จะแจ้งผลการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงให้กับทางบริษัท SME ทราบภายใน 3 เดือนหลังวันที่ผู้รับรองอิสระได้ให้การรับรองเอกสารอ้างอิง Checklist ทั้ง 17 ข้อ

11. หากบริษัท SME ไม่สามารถผ่านการรับรองจากผู้รับรองอิสระได้ภายในเวลา 18 เดือน นับตั้งแต่วันประกาศเจตนารมณ์ บริษัท SME จะมีสถานะ Blackout เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะยืนขอรับรองอีกไม่ได้


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่าน หากมีข้อสอบถามเกี่ยวกับการควบคุมภายใน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการคอร์รับชัน หรือเตรียมพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ CAC SME Certification สามารถสอบถามกับทางบริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด ตามช่องทางต่างๆ ของบริษัทได้

 

ที่มา https://www.thai-cac.com/sme-certification/

เรียบเรียง โดยส่วนงานบทความ กรรมการการตลาด DIR

 

Last modified on วันพฤหัสบดี, 20 เมษายน 2566