ข่าวสาร

| วันจันทร์, 04 กันยายน 2566 |
Written by 

Carbon Footprint คืออะไร และสำคัญต่อการดำเนินงานอย่างไร?



Carbon Footprint คืออะไร และสำคัญต่อการดำเนินงานอย่างไร

Carbon Footprint คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การคมนาคมขนส่ง การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ หรือเรียกว่าเป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมในแง่ของปริมาณแก๊สเรือนกระจกที่สร้างขึ้นมาจากกิจกรรมนั้นๆ โดยวัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ทั้งนี้กิจกรรมที่สามารถก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ได้แก่ การดำเนินชีวิตประจำวันของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การใช้ไฟฟ้า การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว หรือแม้กระทั่งของเสียที่เกิดจากอาหารในแต่ละวัน ล้วนแต่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

โดย Carbon Footprint นั้นใช้สำหรับประมาณว่าคน ประเทศ หรือองค์กรหนึ่ง ๆ มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากน้อยเพียงใด โดยมีวิธีการหลัก คือ ประเมินปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและประเมินความมากน้อยในการส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดขององค์กรนั้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปลูกป่า โดยปัจจุบัน Carbon Footprint นับเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์เกือบทุกขั้นตอน เพื่อที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับการจัดลำดับจากองค์กร German watch ให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและมีการเติบโตของพื้นที่เมืองอย่างต่อเนื่อง จึงมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นนั้นเอง


     ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจของ Environmentalleader.com ได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้นำองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จาก 69 ประเทศทั่วโลก พบว่า 70% ของธุรกิจเห็นโอกาสในการเจริญเติบโตทางนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 69% เห็นว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ และ 67% ได้มีการรายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้แล้ว ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อเรื่องภาวะโลกร้อนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรใส่ใจ เนื่องจากมีข้อดีมากมายทั้งที่ส่งผลดีต่อองค์กรและต่อส่วนรวม เช่น

•  ช่วยให้องค์กรทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและสามารถวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุดพร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรจากการลดการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน

•  เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น ภาษีคาร์บอนและมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะนำมาซึ่งความได้เปรียบทางการค้าขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นจุดแข็งทั้งในประเทศและนานาชาติ ที่ต่างเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และสามารถตรวจวัดเป็นตัวเลขได้

 

•  ทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ใน Supply Chain ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน โดยทั้งหมดนี้สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ในระดับสากลทั่วโลก

 

•  เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการดำเนินงานของ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่โปร่งใส จริงใจ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปรายงานให้กับลูกค้า และตลาดหลักทรัพย์ได้ในรายงานความยั่งยืนขององค์กร (กรณีบริษัทมหาชน) ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

 

•  สามารถจำหน่ายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ พร้อมกับนำข้อมูลเหล่านั้นไปประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท เพื่อตอบคำถามนักลงทุน และท้ายที่สุดแล้วคือการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการ ESG ที่โปร่งใส เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ESG ขององค์กรนั่นเอง

 

•  องค์กรสามารถสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนของประเทศไทย โดยการดำเนินการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย รวมถึงสามารถเข้าร่วมและเป็นตัวชี้วัดให้องค์กรในโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน (Low Carbon and Sustainability Award)

 

ด้วยประโยชน์หรือข้อดีมากมาย ในหลายประเทศจึงเริ่มมีการนำ Carbon Footprint มาใช้กันแล้ว ซึ่งถือได้ว่าการลงทุนที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนี้จะช่วยสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) สร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล Carbon Footprint จะต้องมีการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะนำมาพิจารณา 7 ชนิดด้วยกัน คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ก๊าซมีเทน, ก๊าซไนตรัสออกไซด์, กลุ่มก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, กลุ่มก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

ซึ่งก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดเหล่านี้จะมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential : GWP) แตกต่างกัน โดยทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้กำหนดค่าการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนของแต่ละก๊าซให้เทียบกับศักยภาพการเกิดภาวะโลกร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าศักยภาพในการทำให้โลกร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e) ทั้งนี้ มีขั้นตอนในการคำนวณ Carbon Footprint 9 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1. การกำหนดขอบเขตขององค์กร

2. การกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน

3. การวิเคราะห์แหล่งปล่อยและแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก

4. การคัดเลือกวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก

5. การเก็บข้อมูลกิจกรรมการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

6. การคัดเลือกค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

7. การคำนวณปริมาณการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก

8. รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมขององค์กร

9. การทวนสอบ Carbon Footprint ขององค์กร

 

ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น เป็นวิธีการที่ได้มาซึ่ง Carbon Footprint ขององค์กร ซึ่งหากมีวิธีการในการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และจัดทำที่ถูกต้อง ครบถ้วน จะช่วยให้องค์กรสามารถวางแผนในการดำเนินงาน และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอีกด้วย

เรียบเรียงโดย ณิฐชมนต์ พิชาโอฬารโรจน์ หัวหน้าแผนกพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายพัฒนาระบบ

แหล่งข้อมูล

SET Social Impact https://climate.setsocialimpact.com/carethebear/article/detail/18

Techsauce Knowledge Sharing Platform https://techsauce.co/news/carbon-footprint-to-climate-change 

Last modified on วันพฤหัสบดี, 02 พฤศจิกายน 2566