โครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thailand's Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) หรือ CAC ได้ริเริ่มโครงการ CAC SME Certification เพื่อเป็นการเสริมสร้างแนวร่วมต่อต้านการให้และรับสินบนในภาคเอกชน โครงการฯ ได้จัดทำ CAC SME Anti-Bribery Toolkit เพื่อเป็นคู่มือให้เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และพนักงาน ได้เข้าใจถึงขั้นตอนการเตรียมระบบภายในเพื่อลดความเสี่ยงในการให้สินบน และสอดคล้องกับ แนวทางของการรับรอง CAC SME Certification โดยมีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การร่างนโยบาย การประเมินความเสี่ยง การกำหนดมาตรการ การวางข้อปฏิบัติ การบริหารงานบุคคล การปรับปรุงระบบ และการสื่อสารกับพนักงานและคู่ค้ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)
วัตถุประสงค์
กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันและการให้สินบน เพราะเป็นด่านแรกที่ต้องมีการติดต่อกับภาครัฐ อีกทั้งแรงกดดันในการแข่งขันทางการค้า ความเคยชิน และการขาดความรู้/แนวทางในการป้องกัน การให้สินบน ที่ยังคงเป็นปัญหาและความท้าทายในการลดปัญหาการให้สินบนเชิงระบบของ SME นอกจากนี้ แม้บริษัทขนาดใหญ่จะสามารถรับรองว่าบริษัทของตนมีระบบป้องกันการให้สินบน แต่ภาพรวมปัญหาการให้ สินบนก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป หากแต่เป็นเพียงการผ่องถ่ายความเสี่ยงในการให้สินบน ไปยังบริษัทคู่ค้าที่เป็น SME ที่มีอำนาจต่อรองจำกัดแทน
ดังนั้น การช่วยให้ธุรกิจ SME มีเครื่องมือในการต่อต้านและป้องกันการให้สินบน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ในการสร้างระบบนิเวศของธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และปราศจากการให้สินบนต่อไปในภายภาคหน้า
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ามาร่วมโครงการ CAC SME Certification คือ
1. มีระบบการดำเนินงานที่โปร่งใส
2. ยกมาตรฐานการทำงานเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคู่ค้ารายใหญ่และคู่ค้าต่างชาติ
3. ลดความเสี่ยงในการถูกเรียกรับ และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เคยจ่ายเป็นค่าสินบน
4. ลดความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามมาตรา 123/5 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งเอาผิดทั้งผู้รับ ผู้ให้ และองค์กรที่ให้สินบน
นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และพนักงาน สามารถเข้าใจถึงวิธีสร้างระบบภายในเพื่อป้องกันการให้สินบน โดยการเข้าร่วมฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รับทราบถึงขั้นตอนการร่างนโยบาย วิธีการประเมินความเสี่ยง การร่างมาตรการควบคุมและข้อปฏิบัติ การวางโครงสร้างภายในอื่น ๆ เช่น ระบบการสื่อสารให้พนักงานรับทราบ ระบบการแจ้งเบาะแส
วิธีการสมัครและการขอรับรอง CAC SME Certification
บริษัท SME ที่สนใจจะสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับรอง จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปนี้
1) บริษัท SME ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของบริษัทอยู่ในเกณฑ์การเข้าร่วม CAC SME Certification หรือไม่ โดยพิจารณาจากเงื่อนไข ดังนี้
• บริษัทต้องไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
• บริษัทต้องไม่อยู่ภายในการควบคุมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
• รายได้ต่อปีน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
ถ้าบริษัทผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อแล้ว สามารถแจ้งลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วม SME Executive Briefing โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (กรุณาดูหัวข้อการลงทะเบียน)
ถ้าไม่ผ่านคุณสมบัติข้อหนึ่งข้อใด บริษัทจะต้องขอรับรองตามกระบวนการรับรองของบริษัทใหญ่ CAC (แบบประเมินตนเอง 71 ข้อ)
อย่างไรก็ตาม หากบริษัท SME มีความประสงค์ที่จะเข้าโครงการเพื่อขอรับรองของบริษัทใหญ่ก็สามารถทำได้ โดยดำเนินการสมัครเข้าร่วมตามปกติ
2) CEO หรือเจ้าของธุรกิจ SME ที่สนใจจะประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการ ต้องเข้าร่วมรับทราบข้อมูลก่อนลงนาม โดยแจ้งลงทะเบียนเข้าร่วม SME Executive Briefing ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำ โดยในงานนี้จะทำให้ท่านทราบถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการ CAC SME Certification และภายหลังการรับฟังแล้ว CEO หรือเจ้าของธุรกิจ SME จึงจะสามารถลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมโครงการได้
3) หลังประกาศเจตนารมณ์ บริษัท SME จะมีเวลา 18 เดือนเพื่อยื่นขอรับรอง โดยจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่วันที่บริษัทลงนามประกาศเจตนารมณ์จนถึงวันที่ผู้รับรองอิสระให้การรับรอง Checklist ทั้ง 17 ข้อ
4) ในระหว่างที่บริษัทเตรียมการเพื่อยื่นขอรับรอง โครงการ CAC จะจัด SME Clinic เพื่อเปิดช่องทางให้คำแนะนำหรือตอบข้อซักถามที่บริษัทพบระหว่างการตอบแบบประเมินตนเอง 17 ข้อ และการจัดทำเอกสารอ้างอิงประกอบ โดยการเข้าร่วม SME Clinic นี้ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการได้รับการรับรอง และมีค่าใช้จ่าย
5) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้แก่พนักงานบริษัท โครงการ CAC ได้จัดทำหลักสูตร SME Anti-Bribery E-learning โดยบริษัท SME ที่ประกาศเจตนารมณ์แล้วจะได้รับสิทธิส่งพนักงานเข้าอบรมผ่านระบบ Online และพนักงานที่เข้าอบรมต้องผ่านบททดสอบทั้งหมด จึงจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการผ่านหลักสูตร
6) เมื่อบริษัทจัดเตรียมเอกสารขอรับรองครบถ้วนแล้ว สามารถส่งยื่นขอรับรองทาง online ได้ โดยในปี 2561 ทาง CAC จะเริ่มเปิดรับเอกสารจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2561 บริษัท SME ที่ส่งเอกสารหลังกำหนด ก็จะได้รับการพิจารณาหลังวันที่ 15ของเดือนสุดท้ายของไตรมาสถัดไป (15 ธันวาคม 2561) ส่วนในปี 2562 กำหนดปิดรับเอกสารคือวันที่ 15 ของเดือนสุดท้ายของทุกๆ ไตรมาส
7) หลังจากที่ทางบริษัท SME ได้ส่งเอกสารอ้างอิงทาง Online แล้ว ทางบริษัทก็จะสามารถเลือกและมอบหมายให้ผู้รับรองอิสระให้เข้าตรวจสอบได้ โดยทาง CAC จะจัดทำรายชื่อผู้ตรวจสอบอิสระที่มีคุณสมบัติไว้ให้
8) ทางบริษัท SME จะมีเวลา 18 เดือนเพื่อยื่นขอรับรอง โดยจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่วันที่บริษัทลงนามประกาศเจตนารมณ์จนถึงวันที่ผู้รับรองอิสระให้การรับรองเอกสารอ้างอิง Checklist ทั้ง 17 ข้อ
9) หลังจากที่ทางผู้ตรวจสอบอิสระได้รับรองเอกสารอ้างอิงทั้งหมดแล้ว ทาง CAC จะทำการสุ่มตรวจสอบเอกสารอีกทีและอาจมีการเข้าเยี่ยมบริษัทเพื่อตรวจสอบระบบการทำงาน
10) CAC จะแจ้งผลการตรวจสอบเอกสารอ้างอิงให้กับทางบริษัท SME ทราบภายใน 3 เดือนหลังวันที่ผู้รับรองอิสระได้ให้การรับรองเอกสารอ้างอิง Checklist ทั้ง 17 ข้อ
11) หากบริษัท SME ไม่สามารถผ่านการรับรองจากผู้รับรองอิสระได้ภายในเวลา 18 เดือน นับตั้งแต่วันประกาศเจตนารมณ์ บริษัท SME จะมีสถานะ Blackout เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งในระหว่างนี้จะยืนขอรับรองอีกไม่ได้
อีกหนึ่งความมุ่งมั่นของโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) โดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ได้จัดให้มีผู้ตรวจสอบอิสระ (CAC SME Independent Auditor Certification) เพื่อลงนามรับรองเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานตรวจสอบภายใน (บริษัท) โดยผู้ลงนามต้องได้รับประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภายในรับอนุญาต (CIA) หรือผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรผู้ตรวจสอบภายในของประเทศไทย (CPIAT) ในการทำหน้าที่ตรวจสอบและให้ความเห็นตามแบบประเมินตนเอง ในการเข้าร่วมประกาศเจตนารมย์เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตและการขอรับรองจาก CAC ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ที่มีคุณสมบัติ 3 ข้อ ได้แก่ 1) ไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 2) ไม่เป็นบริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และ 3) มีรายได้รวมไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี
โดยมีขั้นตอนไม่ยากเพียงเมื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ดังกล่าว ได้ประกาศเจตนารมย์และสมัครใจยื่นเอกสารการขอรับรองจาก CAC แล้ว สามารถศึกษาเรียนรู้และแนะนำให้พนักงานและลูกจ้างทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเข้าร่วมโครงการ ตามช่องทางข้อมูลอิเล็คโทรนิค (e-learning) ที่ทาง CAC ได้จัดเตรียมไว้ให้ และจัดเตรียมเอกสารประกอบตามแบบประเมินตนเองเพียง 17 ข้อ (71 ข้อ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่) ส่งผ่านทางเว็ปไซด์ตามที่ CAC กำหนดให้ผู้ตรวจสอบอิสระ (CAC SME Independent Auditor Certification) ตามที่ได้รับการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ตรวจสอบอิสระของ CAC และได้รับการรับรองการผ่านหลักสูตรจาก CAC แล้ว ตรวจสอบข้อมูลทางออนไลน์ตามขั้นตอนและให้ความเห็น ก่อนรับการตรวจสอบจากทีม CAC, CAC Certification Committee, CAC Council และผ่านการรับรอง (Certified) ตามลำดับ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ของประเทศไทยเราครับ
ผู้เขียน : คุณศักดิ์ศรี อำพวัน ที่ปรึกษาและนักวิชาชีพตรวจสอบอาวุโส บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด