ข่าวสาร

| วันศุกร์, 10 กุมภาพันธ์ 2560 |

หน่วยงานปราบโกงมีปัญหา ยังขาดความจริงจัง-การบังคับใช้กม.

ผลสำรวจล่าสุดของกรุงเทพโพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพต่อปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ ที่พัวพันบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทปตท.สผ. ไปจนถึงการจัดซื้อกล้องซีซีทีวีติดตั้งในรัฐสภา ซึ่งเป็นการทุจริตช่วงปี 2534 ถึง 2549 ผลปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.1 คิดว่าการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นยังมีช่องโหว่

กฎหมายไม่รุนแรงพอที่จะทำให้กลัวต่อการกระทำผิด ขณะที่ร้อยละ 46 กลัวว่าจะไม่สามารถเอาผิดกับพวกทุจริตได้ โดยจะจับได้แต่ข้าราชการชั้นผู้น้อยกลายเป็นมวยล้มต้มคนดู ส่วนร้อยละ 34.8 ห่วงว่าสถานการณ์คอร์รัปชั่นในแวดวงราชการและรัฐวิสาหกิจของประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจของโพลล์ที่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่มั่นใจการทำหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ในการตรวจสอบเพื่อนำตัวพวกโกงชาติปล้นแผ่นดินมาลงโทษ

 

จากการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ ในประเด็นที่ว่ารัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตเรื่องใดมากที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 49.8 ตอบว่า การติดสินบน การให้เงินใต้โต๊ะแก่เจ้าหน้าที่รัฐ รองลงมาร้อยละ 47.7 เรื่องการทุจริตในการแต่งตั้ง การสอบคัดเลือก การรับเด็กเส้นเข้ามารับราชการในหน่วยงานของรัฐ ร้อยละ 47.5 การใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ ร้อยละ 46.6 ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และร้อยละ 43.1 การเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตนเองพวกพ้องญาติพี่น้องมีส่วนได้เสีย

 

เมื่อถามว่าเชื่อมั่นหรือไม่ว่าการรื้อระบบการจัดซื้อจัดจ้างจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจได้ ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 61.8 ไม่เชื่อมั่น มีเพียงร้อยละ 30.5 ที่เชื่อมั่น ขณะที่ร้อยละ 7.7 ไม่แน่ใจ

 

ในประเด็นความเชื่อมั่นต่อการออกกฎหมายป้องกันการคอร์รัปชั่น อาทิ พ.ร.บ.ลงโทษผู้ทุจริต 3 ชั่วโคตรเพื่อป้องกันการคอร์รัปชั่นในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจปรากฏว่า ร้อยละ 34.7 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย ร้อยละ 28.1 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก ร้อยละ 24.3 เชื่อมั่นน้อยสุด ร้อยละ 7.2 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 5.7 เชื่อมั่นมากที่สุด

 

เมื่อถามถึงความเห็นต่อการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการแก้ไขปัญหาการซื้อขายตำแหน่งทางราชการและรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 61.3 เห็นด้วย ร้อยละ 31.3 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 7.4 ไม่แน่ใจ

 

และเมื่อถามว่ารัฐบาลมีมาตรการจริงจังเพียงใดในการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจตลอด 2 ปี 6 เดือน หลังคสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศปรากฏว่าร้อยละ 52.6 เห็นว่ารัฐบาลมีความจริงจังค่อนข้างมาก ร้อยละ 22.3 ค่อนข้างน้อย ร้อยละ 14.6 มากที่สุด ร้อยละ 7.1 น้อยที่สุด และร้อยละ 3.2 ไม่แน่ใจ

 

ทั้งนี้ภาพสะท้อนความไม่เชื่อมั่นของประชาชนต่อการบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำตัวเหล่านักการเมือง ข้าราชการที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมาลงโทษตามกฎหมายด้านหนึ่งต้องยอมรับความจริงว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบหรือปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำตลอดช่วงที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการทำหน้าที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรหรือหน่วยงานเหล่านี้อาจมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองหรือรับสินบนปิดปากเสียเอง

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่งความไม่เชื่อมั่นของประชาชนเกิดขึ้นขณะที่ล่าสุดองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ(Tranparency International-TI) ประเมินอันดับความโปร่งใสของไทยลดลงจากอันดับ 76 เมื่อปีที่แล้ว เป็นอันดับ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ประกอบกับภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยช่างเผอิญถูกซ้ำเติมในเวลาใกล้เคียงกันเมื่อสื่อต่างชาติพากันประโคมข่าวผลการตรวจสอบของหน่วยงานปราบปรามการคอร์รัปชั่นของอังกฤษ(เอสเอฟโอ) รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาที่เปิดเผยคำรับสารภาพของผู้บริหาบริษัทโรลส์-รอยซ์ และบริษัทเอกชนของสหรัฐบางบริษัทเกี่ยวกับการจ่ายสินบนให้กับนักการเมืองและผู้บริหารหลายรัฐวิสาหกิจของไทยในอดีต

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาการปราบปรามการทุจริตซึ่งยังไม่ได้ผลในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังพร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตชี้ให้เห็นว่า ข่าวทุจริตอื้อฉาวสำคัญๆ เกือบมักจะเกิดจากการตรวจสอบและตีแผ่โดยหน่วยงานของต่างประเทศแทนที่จะเกิดจากหน่วยงานของไทย ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ปกติของหน่วยงานด้านการตรวจสอบการทุจริต อาทิ กรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่กลับถูกตรวจสอบพบโดยหน่วยงานของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

 

ขณะที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่า สาเหตุที่งานปราบปรามการทุจริตในไทยไม่สำเร็จเท่าที่ควรเพราะไม่บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจังและอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มาตรา 103/4 และ 103/5 ที่ส่งเสริมให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่กล้าร้องเรียนเปิดเผยข้อมูลทุจริตต่อ ป.ป.ช. รัฐต้องยกย่องคุ้มครองเป็นแบบอย่างเพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องของสังคม ไม่ใช่เชิดชูคนรวยจากการโกง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้รางวัลแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่กล้าเปิดเผยการทุจริตเป็นกรณีพิเศษทั้งการเพิ่มเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่ง หรือหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเปิดเผยการทุจริตต้องได้รับความคุ้มครองโดย ป.ป.ช.ต้องเสนอนายกฯให้ย้ายสังกัดสายงานหรือกระทรวงได้ในทันที

 

เพราะฉะนั้นผลงานการขจัดทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการนำตัวเหล่าตัวการสำคัญที่โกงชาติปล้นแผ่นดินทั้งในอดีตและปัจจุบันมาลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงถือเป็นโจทย์ท้าทายและจะเป็นตัวชี้วัดศรัทธาของประชาชนที่จะมีต่อรัฐบาลและคสช. ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเดินหน้าปฏิรูปประเทศในอนาคต

 

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : แนวหน้าออนไลน์

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561