ข่าวสาร

| วันอังคาร, 25 ตุลาคม 2559 |

ปรับตัวกับความไม่แน่นอน : ประเด็นกรรมการ

จากบทความเรื่องความเสี่ยง ก็มีคำถามตามมาว่า บริษัทเอกชนควรปรับตัวอย่างไรกับความเสี่ยงเหล่านี้ และอะไรเป็นประเด็นที่คณะกรรมการบริษัทควรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญ

        จากงานบรรยายพิเศษสมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย ได้พูดเรื่องการปรับตัวนี้ วันนี้ก็เลยอยากนำประเด็นเหล่านี้ มาแชร์ให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

        ในสภาวะโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง บริษัทจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ รวมถึงค้นหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้สามารถเติบโตได้ในภาวะที่ธุรกิจมีความไม่แน่นอนมากเช่นขณะนี้ และการปรับตัวจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยภาวะผู้นำที่เข้มแข็งที่จะนำพาบริษัทในทุกระดับ ซึ่งที่สำคัญ ก็คือ ภาวะผู้นำของคณะกรรมการบริษัทหรือบอร์ด

         ต่อคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรให้การปรับตัวประสบความสำเร็จ ในเรื่องนี้ จุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่คณะกรรมการบริษัทที่ต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในสามประเด็น

 

         หนึ่ง คือ คณะกรรมการต้องตระหนักในความสำคัญของความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ (strategic risk) ที่ต้องเข้าใจและมีความระมัดระวังในการวางยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจของบริษัท เพราะการเปลี่ยนแปลงขณะนี้เกิดขึ้นในทุกมิติ ไม่ว่าการผลิต เทคโนโลยี่ ความพึงพอใจของผู้บริโภค และการแข่งขัน ถ้ายุทธศาสตร์ของบริษัทไม่ดีพอหรือผิดพลาด ก็อาจมีผลถึงความอยู่รอดของบริษัทได้ ที่ผ่านมาเราจึงเห็นบริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัทปรับตัว ทั้งเพื่อการแข่งขันและเพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว ซึ่งในประเด็นหลังของความยั่งยืนทางธุรกิจ ตัวอย่างที่ดีก็เช่น บริษัท Siemens , IKEA และ Caterpillar เป็นต้น

   

         สอง คณะกรรมการต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี่ที่กำลังเกิดขึ้น และผลที่จะมีต่อธุรกิจที่บริษัทอาจต้องปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับยุค digital โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ในโมเดลธุรกิจของบริษัท พร้อมหาทางลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและรักษาความสามารถในการแข่งขัน ในประเด็นนี้ ตัวอย่างที่ดี คือ ธุรกิจการเงินที่กำลังถูกท้าทายโดยอุตสาหกรรม fintech ที่ให้บริการทางการเงินได้ เหมือนธนาคารพาณิชย์ แต่ในต้นทุนที่ต่ำกว่า และให้ประสบการณ์ใหม่ที่ดีแก่ผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงนี้กระทบธนาคารพาณิชย์โดยตรง ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับตัว ต้องนำเทคโนโลยี่ใหม่มาประยุกต์ใช้ในการให้บริการ เพื่อรักษาฐานลูกค้า และความอยู่รอดของธุรกิจ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ว่าคณะกรรมการบริษัทต้องมองเทคโนโลยี่ว่า เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อธุรกิจ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง

 

         สาม คณะกรรมการบริษัทต้องให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมในการปรับตัว มีการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาลที่ดีในการทำธุรกิจ ต้องเน้นให้ทุกคนในองค์กร ยึดมั่นในหลักการนี้ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อให้บริษัทเลือกวิถีที่ถูกต้องในการปรับตัวสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และวิถีที่ถูกต้องนี้จะเป็นแนวทางที่บริษัทจะสามารถเอาชนะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกธุรกิจได้ โดยอาศัย ความรู้ ความเป็นเลิศด้านกลยุทธ์ จริยธรรมและการมีธรรมาภิบาล ในการทำธุรกิจ

 

         ทั้งสามประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท ที่ต้องผลักดัน และทำให้เกิดขึ้น

 

         สำหรับผู้ตรวจสอบภายในซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในการการขับเคลื่อนการทำธุรกิจอย่างถูกต้อง ในการบรรยายพิเศษที่ได้พูดถึง ผมก็ได้ฝากประเด็นไว้สามประเด็นให้ผู้ตรวจสอบภายในพิจารณาในการปฏิบัติหน้าที่

 

          ประเด็นแรก ผู้ตรวจสอบคงต้องตระหนักในประเด็นความท้าทายเหล่านี้ ที่บริษัทธุรกิจประสบอยู่ ตระหนักในการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจของบริษัทที่กำลังเกิดขึ้น ทั้งในระดับบอร์ดที่อาจต้องปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจของบริษัท ในระดับผู้บริหารที่อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ และในระดับพนักงาน ที่ต้องทำงานภายใต้กระบวนการทำงานและระบบการตรวจสอบใหม่ ความเข้าใจในบริบทนี้ จะทำให้ผู้ตรวจสอบสามารถหาจุดสมดุลได้ในการทำหน้าที่ระหว่างภาพใหญ่ของความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ที่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหาร กับการสร้างความมั่นใจในกระบวนการปฏิบัติการของบริษัท หรือ ระบบ compliance ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงาน นี่คือประเด็นสำคัญประเด็นแรกที่อยากให้ตระหนัก

 

         ประเด็นที่สอง คือ ในทุกการปรับตัวจะหมายถึง การลดต้นทุนและการตัดทอนรายจ่าย ขณะที่บริษัทเองจะมีแรงกดดันมาก ที่ต้องหารายได้และสร้างการเติบโต ทั้งหมดนี้จึงเป็นแรงกดดันต่อพนักงานมาก ที่ผ่านมา เราจึงเห็นหลายตัวอย่างที่แรงกดดันนี้ นำไปสู่ความหละหลวมในการควบคุมภายใน การลดประสิทธิภาพของการบริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงาน ล่าสุด กรณีธนาคารเวลส์ ฟาร์โก้ ที่สหรัฐเป็นตัวอย่างที่ดีของความเสี่ยงประเภทนี้ ที่พนักงานกว่า 5,000 คน ได้เปิดบัญชีใหม่ให้ลูกค้ากว่า 2 ล้านบัญชี เพื่อให้ได้เป้าในการทำงานโดยที่ลูกค้าเจ้าของบัญชีไม่รู้เรื่อง นำไปสู่การทำผิดกฎระเบียบ และการสูญเสียชื่อเสียงของธนาคาร สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความเสี่ยงด้านปฏิบัติการในช่วงที่ธุรกิจของบริษัทมีการปรับตัว รวมถึงการเชื่อมต่อกันโดยปริยายของความเสี่ยงสำคัญสามความเสี่ยง คือ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงของการทำผิดกฎระเบียบของทางการ และความเสี่ยงด้านชื่อเสียง

 

         ประเด็นที่สาม คือ เรื่อง IT Risk ซึ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ทุกบริษัทต้องให้ความสำคัญมากขึ้นจากนี้ไป จากที่รูปแบบการทำธุรกิจ รวมถึงการใช้ประโยชน์ของข้อมูลในการทำธุรกิจ มีแนวโน้มที่จะพึ่ง digital เทคโนโลยี่มากขึ้น ผลก็คือ เกิดการผลิตและการรวบรวมข้อมูลมากในชีวิตประจำวันของการทำงาน นำไปสู่ประเด็นความเสี่ยงด้านข้อมูล ด้านระบบไอที และด้านความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ทำให้การตรวจสอบและการควบคุมภายในที่ดีของระบบ IT จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในเรื่องนี้ประเด็นสำคัญ คือ ทุกฝ่ายต้องสร้างให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าปัญหาด้าน IT ไม่ใช่เรื่องหรือความรับผิดชอบเฉพาะของเจ้าหน้าที่ IT แต่เป็นปัญหาการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับทุกคนที่บริษัทต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี รองรับ และทั้งคณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร จนถึงระดับปฏิบัติการต้องมีความเข้าใจเหมือนกันในประเด็นนี้ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบ

 

        การเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงที่พูดถึงนี้กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก กระทบการทำธุรกิจทั่วโลก บริษัทในประเทศเองหนีไม่พ้นต้องถูกกระทบ และจะต้องปรับตัวในลักษณะเดียวกัน

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเมือง กรุงเทพธุรกิจ

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

 

 

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561