ข่าวสาร

| วันพฤหัสบดี, 17 พฤศจิกายน 2559 |

ตัวแปรเศรษฐกิจไทยปี 60 หลัง “ทรัมป์” นั่งแท่นผู้นำสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ 45 ปิดฉากลงด้วยสถานการณ์ที่เหนือความคาดหมายหลายอย่าง เพราะนอกจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจที่ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง จะกลายมาเป็นผู้พลิกประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของสหรัฐฯ คนต่อไปแล้ว สิ่งที่มาได้ผิดคาดอีกอย่าง ก็คือ พรรครีพับลิกัน สามารถครองเสียงข้างมาก

       ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งทำให้โดยหลักการแล้วการผ่านกฎหมาย/มาตรการและนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในช่วงหลังจากนี้คงจะมีความราบรื่นมากขึ้น ดังนั้น “โจทย์ยกเพดานหนี้สหรัฐฯ” ที่รออยู่ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 2560 ก็คงจะไม่ใช่ประเด็นที่ต้องลุ้นกันจนถึงเส้นตายเหมือนกรณีที่เคยผ่านๆ มา

       ในระยะสั้น ผลกระทบจากชัยชนะของ นายทรัมป์ นับเป็น “ข่าวลบ” และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด “ความผันผวน” ในตลาดการเงินทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากความตื่นตระหนกของตลาดกับผลการเลือกตั้ง ด้วยการเทขายเงินดอลลาร์ เงินเปโซของเม็กซิโก เงินดอลลาร์แคนาดา สกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย และสินทรัพย์เสี่ยง (เช่น หุ้น น้ำมัน) และหันไปซื้อสินทรัพย์/สกุลเงินที่มีความปลอดภัย เช่น ทองคำ เงินเยน เงินสวิสฟรังก์ เพื่อหลบความเสี่ยงในช่วงที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับนโยบายของนายทรัมป์ อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินทั่วโลกก็ดีดตัวกลับมาได้ภายในชั่วข้ามคืน ด้วยภาพที่เงินดอลลาร์ และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสวนทางต่อเงินเยน และทองคำที่ลดช่วงบวกทั้งหมดลง

       ในระยะถัดไป คาดว่า นานาประเทศและตลาดการเงินทั่วโลก คงจะต้องทยอยปรับตัวรับแนวนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมภายใต้สไตล์การบริหารประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแม้ว่า จุดยืนของนายทรัมป์ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจะค่อนข้างชัดเจนว่า นายทรัมป์ จะเดินนโยบายในทิศทางที่สนับสนุนภาคธุรกิจ และการกระตุ้นการลงทุนให้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และอาจจะมีนโยบายตอบโต้/กีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ยังมีความไม่แน่นอนอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการตอบสนองจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ

       ดังนั้น ประเด็นที่ต้องจับตาจะมีอยู่ 2 เรื่อง ได้แก่

       1.การเรียงลำดับความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจของทีมบริหารเศรษฐกิจชุดใหม่ของนายทรัมป์ ซึ่งมองว่า ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าน่าจะเห็นการผลักดันนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Pro-Growth Policies) ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติแล้วเห็นผลเชิงบวกได้เร็วที่สุดต่อสหรัฐฯ (America First) และไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อฝ่ายใด

       ทั้งนี้ นโยบายการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล (ลงไปที่ร้อยละ 15 จาก) ซึ่งสามารถทำไปพร้อมๆ กับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ตามแนวนโยบายของนายทรัมป์ น่าจะส่งผลกระตุ้นในระยะสั้นต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเท่ากับว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถประคองการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องในปี 2560
อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นการลงทุนแบบสุดขั้วดังกล่าวอาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น (Fundamental Risks) โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่น่าจะเรื้อรัง และมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดอาจจะกดดันให้เงินดอลลาร์มีทิศทางอ่อนค่าลง

       2.การตอบสนองของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์ ที่กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 และในขณะเดียวกันให้มีการดึงภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ กลับสู่สหรัฐฯ ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นฐานการผลิตที่จีน เพื่อให้พลเมืองสหรัฐฯ มีงานทำเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันสหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 21.5 ของการนำเข้ารวม และหากนโยบายขึ้นภาษีฯ ดังกล่าวถูกผลักดันให้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ราคาสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ สูงขึ้น ผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างน้อยในระยะสั้น

       ทั้งนี้ แม้ว่าเงื่อนไขการเจรจาข้อตกลงยังมีความไม่แน่นอน แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะยึดหลักการที่ทำให้สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งจีน และประเทศอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของการกีดกันทางการค้า อาจจะต้องยอมเสียผลประโยชน์ไปบางส่วน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาเงื่อนไขทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ น่าจะยังพอมีทางให้บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ และจะไม่นำไปสู่ข้อพิพาท และใช้ความรุนแรง เนื่องจากในระยะสั้นประเทศที่เป็นเป้าหมายของการกีดกัน/การตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ดังกล่าว อาจจะยังไม่มีทางเลือกมากนักในการปฏิเสธข้อเสนอของสหรัฐฯ ซึ่งก็ต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ที่เสนอมาบนความไม่เต็มใจ แต่ในระยะยาว จะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะข้างหน้า จากการที่นโยบายการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่คงจะมุ่งเป้าไปที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงส่งสัญญาณว่า เฟดจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับสู่ระดับปกติตามเดิม

       อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญของตลาดในช่วงหลังจากนี้จะอยู่ที่ท่าทีของทีมบริหารประเทศชุดใหม่ ซึ่งอาจจะไม่อยากเห็นผลกระทบในเชิงลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมองว่า เฟดก็คงต้องชั่งน้ำหนักให้แก่หลายๆ ปัจจัยมากขึ้นในการกำหนดท่าทีเชิงนโยบาย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า เฟด อาจจะ “Behind the Curve” หรือปรับอัตราดอกเบี้ยในจังหวะที่ตามหลังการตอบสนองของตลาด ซึ่งในประเด็นนี้อาจทำให้ตลาดมีความผันผวน และมีความไม่แน่นอนสูง

       จากการประเมินสถานการณ์ดังกล่าวแม้ในระยะสั้น ตลาดการเงินโลกจะมีการตอบรับในเชิงลบต่อชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัล ทรัมป์ แต่แนวทางการบริหารประเทศที่จะมุ่งเน้นเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นภารกิจสำคัญ ก็หนุนให้ตลาดฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ภายในช่วงข้ามคืน นอกจากนี้ จากการที่สหรัฐฯ น่าจะใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า คาดว่าจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 จะยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.2 ตามที่ประเมินไว้

       อย่างไรก็ดี สำหรับผลต่อการส่งออกของไทยนั้นสถานการณ์ที่ดีที่สุดต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีหน้าจะเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ สามารถบรรลุการเจรจาเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นข้อตกลงร่วมกันได้ และไม่นำไปสู่ข้อพิพาท และใช้มาตรการตอบโต้ที่มีความรุนแรง

       ข้อมูลโดย...ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : Manager Online

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561