นับจากปี 2538 ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และภาวะเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก เช่น การปิดกิจการสาขา สิงคโปร์ ของธนาคารแบริ่ง ประเทศอังกฤษ เนื่องจากประสบผลขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล และธนาคารไดวา ประเทศญี่ปุ่น สาขา USA ได้ถูกทางการสหรัฐอเมริกาสั่งปิดการดำเนินกิจการทั้งหมดใน USA เป็นต้น โดยสาเหตุที่พบคือ ผู้บริหารของสาขาธนาคารดังกล่าว กระทำการทุจริต
ต่อมาในปี 2540 เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศไทย เนื่องมาจากการโจมตีค่าเงินบาทจากนักลงทุนต่างชาติ และนโยบายของรัฐบาลได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับสกุลเงินต่างประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเนื่องในทุกประเทศ ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยได้รับผลกระทบทางการตลาดเงินและตลาดทุนอย่างรุนแรงมากที่สุด ทำให้รัฐบาลออกประกาศสั่งปิดธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ มากกว่า 56 แห่ง
ความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว สรุปได้ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจาก
- ความโลภของผู้บริหาร
- การแต่งงบการเงิน เพื่อให้มีกำไรต่อหุ้นสูงขึ้น
- การขาดความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีบางคน
- รูปแบบการรายงานทางการเงินไม่ชัดเจน
- หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปมีเกณฑ์มากมาย
- ความบกพร่องของระบบการควบคุมภายใน และระบบการตรวจสอบภายในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
1. ขาดการแบ่งแยกหน้าที่
2. ขาดการคานอำนาจของผู้บริหารระดับสูง
3. ขาดระบบการควบคุมและติดตามผล
4. ขาดการตรวจสอบภายใน (Internal Audit)
5. ขาดการบริหารความเสี่ยง
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญของการควบคุมภายใน ซึ่งส่งผลให้เกิดการก่อตั้งหน่วยงาน IIA เพื่อสำหรับการตรวจสอบระบบการควบคุมภายใน และบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในองค์กร โดยตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ได้ออกประกาศข้อบังคับต่างๆ และเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับ
1. แนวทางการจัดระบบการควบคุมภายใน พ.ศ. 2540
2. แนวทางการปฏิบัติการตรวจสอบภายใน พ.ศ. 2541
3. นโยบายเรื่อง ข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2542
4. แนวทางปฏิบัติที่ดีของคณะกรรมการตรวจสอบ พ.ศ. 2542
5. รายงานการกำกับดูแลกิจการที่ดี พ.ศ. 2543
ซึ่งผลจากการที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญด้านระบบการควบคุมภายใน ส่งผลให้องค์กรต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์ และองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มมีการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายใน (Internal Audit) เพื่อสอบทานความโปร่งใส บริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีความ "เป็นอิสระ"
แต่ปัจจุบันนี้ บทบาทของ Internal Audit (IA) เริ่มถูกลืม และลดบทบาทลงอย่างมาก เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงบางคนเห็นว่า การตั้งหน่วยงานตรวจสอบภายใน ก็เพียงแค่ "ให้ถูกต้อง" ตามหลักปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เท่านั้น
เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงบางคนไม่เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของ IA ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมี IA คืออะไร ผู้บริหารระดับสูงบางคนคิดแค่ว่า การตรวจสอบภายใน ก็คือ "การตรวจสอบสินทรัพย์ของบริษัท ไม่ให้สูญหาย หรือมีผู้ทุจริตยักยอกไป" เพียงเท่านั้น
ประกอบกับผู้บริหารระดับรองลงไป และพนักงานภายในองค์กร ก็ไม่มีความรู้ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) ยิ่งส่งผลให้การตรวจสอบภายในเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพนักงานทุกคนภายในองค์กรจะมีความคิดที่ปลูกฝังว่า "ตนเองทำงานถูกต้องทุกครั้ง" ดังนั้น เมื่อมีผู้ตรวจสอบภายในไปติ หรือแนะนำวิธีการปฏิบัติงานที่จะทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น พนักงานเหล่านั้นจะมีอคติ และต่อต้านขึ้นมาทันที
ที่ร้ายแรงที่สุดก็คือ ผู้ตรวจสอบภายในที่ปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน ไม่เข้าใจบทบาทและสำคัญตนเองผิดคิดว่า การตรวจสอบภายใน คือ "การตรวจจับทุจริต และการสอดส่อง การทำงานของพนักงานอื่นๆ ภายในองค์กรในทุกเรื่อง(สทร.)" ส่งผลให้เมื่อมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ผู้ตรวจสอบก็จะนำเรื่องที่ได้รับ ได้เห็น ได้ยิน และอื่นๆ อีกมากมาย ไปรายงานให้ผู้บริหารระดับสูงทราบ โดยที่ไม่ทราบว่า ข้อเท็จจริงที่ตนนำไปรายงานนั้น เป็นจริง หรือเป็นเท็จ โดยที่ผู้บริหารระดับสูงก็ให้ความสำคัญกับรายงานที่ IA ชี้แจง
การกระทำดังกล่าว ยิ่งส่งผลให้พนักงานภายในองค์กรไม่พอใจ และไม่ไว้ใจ เนื่องจากเรื่องบางอย่างก็ไม่ได้เป็นความผิดที่ร้ายแรง แต่ผู้ตรวจสอบกลับคิดว่ามันคือ "ผลงานชิ้นโบว์แดง" ส่งผลให้พนักงานภายในองค์กรไม่อยากให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบภายใน
การสำคัญตนผิดของผู้ตรวจสอบภายใน ส่งผลให้ผู้ตรวจสอบภายในที่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ และวิชาชีพที่ตนอบรมมานั้น ปฏิบัติงานอย่างยากลำบาก เนื่องจากพนักงานภายในองค์กรมีความคิดแง่ลบ และอคติต่อผู้ตรวจสอบภายในก่อนเริ่มทำการตรวจสอบเสียแล้ว
หนทางที่จะแก้ไขการสำคัญตนผิดของผู้ตรวจสอบภายในนั้น เป็นไปได้ยาก เนื่องจากผู้ตรวจสอบภายในบางคน ปฏิบัติตนเช่นนั้นเป็นเวลานาน ประกอบกับวัฒนธรรมในองค์กร (ผู้บริหารระดับสูง) สนับสนุนและให้ความเชื่อถือต่อผู้ตรวจสอบ โดยไม่มีความคิดที่จะแก้ไขความเข้าใจผิด ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนให้ผู้ตรวจสอบที่สำคัญตนผิดนั้น มีความคิดว่า "เรื่องทุกเรื่องที่นำไปรายงาน คือสิ่งที่ต้องปฏิบัติ แม้ว่าบางเรื่องยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นความจริงหรือไม่"
พฤติกรรมของผู้ตรวจสอบภายในที่ปฏิบัติตนเช่นนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งเพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน เพียงแค่ไม่ปฏิบัติตนตามระเบียบ ก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง เช่น การขาด ลา มาสาย หรือการแต่งกายไม่ถูกระเบียบ เป็นต้น โดยจะยึดถือคติที่ว่า "ตนเองทำได้ แต่คนอื่นห้ามทำ"
บ่อยครั้งที่เห็นผู้ตรวจสอบภายในไม่ปฏิบัติตามระเบียบของบริษัท แต่ก็ไม่มีใครกล้านำเรื่องดังกล่าวไปรายงาน เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือแก่ Internal Audit มากกว่าพนักงานอื่นๆ ในองค์กรของตนเอง
วัฒนธรรมขององค์กรเช่นนี้ ยากจะเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ผู้บริหารระดับสูงยังคงมีความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน ว่าคือการตรวจสอบทรัพย์สินของบริษัท เท่านั้น ทำให้พนักงานในบริษัท รวมถึงเพื่อนร่วมอาชีพ (Internal Auditor) ก็ต้องยอมรับชะตากรรมดังกล่า่วต่อไป โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ยกเว้น ผู้บริหารระดับสูงจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการตรวจสอบภายใน (หายหน้ามืดตามัว)