เราจะเจอผู้ตรวจสอบภายในในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทที่ไม่จดทะเบียน ถ้าเขายินดีที่จะมีก็สามารถมีได้ ผู้ตรวจสอบภายในจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ เป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ โดยตรงก็ได้ คือตั้งฝ่ายหรือหน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นมาก็ได้ ถ้าไม่อยากตั้งหรือยังไม่พร้อม ก็ไป Outsource บริษัทอย่าง Big 4 ที่เขามีพนักงานที่พร้อมจะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบภายในให้ก็ทำได้
1. สภาพแวดล้อมในการทำงาน
สถานที่ทำงาน
เราจะเจอผู้ตรวจสอบภายในในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัทที่ไม่จดทะเบียน ถ้าเขายินดีที่จะมีก็สามารถมีได้ ผู้ตรวจสอบภายในจะแบ่งเป็นสองส่วนคือ เป็นพนักงานของบริษัทนั้นๆ โดยตรงก็ได้ คือตั้งฝ่ายหรือหน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นมาก็ได้ ถ้าไม่อยากตั้งหรือยังไม่พร้อม ก็ไป Outsource บริษัทอย่าง Big 4 ที่เขามีพนักงานที่พร้อมจะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบภายในให้ก็ทำได้
สภาพการทำงาน
บางองค์กรเขาเป็นองค์กรที่ให้บริการธรรมดา มีองค์กรอยู่ที่เดียว แต่ถ้าเป็นบางองค์กร เช่น ธนาคารซึ่งมีสาขา ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกประเทศ เราก็อาจจะต้องเดินทางไปทั้งในและนอกประเทศ หรือบางบริษัท เช่น ธุรกิจสายการบินก็อาจจะมีสำนักงานตัวแทนอยู่ในที่ต่างๆ แล้วแต่สิ่งที่เราไปตรวจ แต่ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรอีกว่าอาจจะใช้วิธีการตรวจในการเรียกข้อมูลจากพื้นที่ตามต่างจังหวัดมาตรวจก็ได้ หรือบางองค์กรก็อยากให้ไปตรวจในสถานที่จริงเลยเพื่อสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละองค์กรและผู้ตรวจสอบภายในด้วยว่าเราคิดวิธีการตรวจเรื่องนั้นๆ อย่างไร
อาชีพนี้ต้องทำงานร่วมกับอาชีพ/ตำแหน่งงานใดบ้าง
เวลาเราเข้าไปตรวจในองค์กรหรือหน่วยงานหนึ่งๆ เราก็จะต้องทำงานร่วมกับทุกคน เวลาเราจะไปตรวจสอบ เราก็ต้องไปรู้จักกับพนักงานระดับ Operation เลย ว่าเขามีกระบวนการอย่างไร ส่งมอบงานอย่างไร มีการจัดการเรื่องต่างๆ อย่างข้อร้องเรียนของลูกค้าอย่างไร ตอนสัมภาษณ์ก็มีสัมภาษณ์ระดับบนด้วย คือ ผู้บริหาร เพราะเราก็อยากรู้ว่าผู้บริหารของหน่วยงานนั้นๆ เขามอบหมายนโยบายอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องไปสัมภาษณ์ระดับปฏิบัติการเหมือนกันว่าเขาเข้าใจสิ่งที่ผู้บริหารต้องการจะสื่อลงไปถูกต้องหรือเปล่า เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ฝ่ายบริการกับฝ่ายปฏิบัติการเข้าใจมันตรงกัน ส่วนตอนสรุปและรายงานผล อันนี้ก็ต้องรายงานกับผู้บริหารอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราทำงานกับตั้งแต่ระดับคนทำงานจนถึงระดับบริหารของบริษัทนั้นๆที่เราไปตรวจสอบเลย
2. คุณลักษณะของงาน
เป้าหมายของงาน/โจทย์ใหญ่ของงาน/ความท้าทายของงาน
อาชีพนี้เป็นผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor) องค์กรส่วนใหญ่ที่มีอาชีพนี้ก็คือบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อันนี้เป็นข้อบังคับตามกฎหมายเลยว่าต้องมีผู้ตรวจสอบภายใน เพราะว่าเป็นหนึ่งในการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ถ้าถามว่าผู้ตรวจสอบภายในคืออะไร อยากจะให้ลองนึกถึงภาพขององค์กร ในองค์กรก็จะมีหลายหน่วยงาน ถ้าเป็นองค์กรใหญ่ก็จะมีตั้งแต่ บอร์ด คณะกรรมการ ผู้บริหาร แล้วก็จะมีหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายจัดซื้อ ภาษี บัญชี อันนี้ก็เป็นโครงสร้างองค์กรปกติ ทีนี้เราก็คงสงสัยว่า ผู้บริหารเขาจะควบคุมดูแลหน่วยงานต่างๆ นี้อย่างไรให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัท อันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่อาชีพผู้ตรวจสอบภายในเกิดขึ้นมา หลักๆ คือเราทำหน้าที่เป็นเหมือนแขนขา เป็นหูเป็นตาให้กับผู้บริหาร อย่างที่บอกว่าในองค์กรหนึ่งมีหลายฟังก์ชั่นงาน ผู้ตรวจสอบก็คือเข้าไปทำหน้าที่แทนผู้บริหาร เข้าไปดูว่าเขาทำตามกระบวนการที่องค์กรนั้นๆ กำหนดไว้หรือเปล่า
เป้าหมายหลักๆ เลยก็คือเพื่อรับใช้ผู้บริหาร รวมถึงผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้มั่นใจว่าองค์กรนี้มีการดำเนินการตามเป้าหมายที่ผู้บริหารได้ตั้งไว้หรือไม่ และผู้ตรวจสอบภายในก็ต้องรู้ในเรื่องของความเสี่ยงในการควบคุม อันนี้ก็เพื่อไปตอบโจทย์ว่าองค์กรต่างๆ นี้บริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม หน้าที่ก็จะประมาณนี้ครับ
Work process
ตามทฤษฎีแล้ว ผู้ตรวจสอบภายในทำงานอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่า Assurance คือการให้ความเชื่อมั่นว่าองค์กรนี้ไม่ทำผิดกฎหมาย มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม อีกงานหนึ่งเราเรียกว่า Consulting Service คืองานให้คำปรึกษา สมมติเราเข้าไปตรวจแล้วเราเจอกระบวนการที่ไม่ดี เราก็ให้คำปรึกษาว่าเขาควรจะปรับปรุงกระบวนการนี้อย่างไร หรือรวมไปถึงในบางองค์กรที่การจัดการเรื่องของความเสี่ยงหรือการควบคุมภายในยังไม่ดี เราก็จะเข้าไปให้คำปรึกษาเหมือนกันว่าควรจะมีการจัดการกับความเสี่ยงอย่างไร ความเสี่ยงไหนรับได้ รับไม่ได้ ความเสี่ยงอันไหนเกินไปมากอยู่ เพราะฉะนั้นความท้าทายของผู้ตรวจสอบภายในก็คือ บางอย่างถ้าเราให้เขาใส่กระบวนการหรือการควบคุมมากไป มันก็เป็นต้นทุนของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจมันต้องโตไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมานั่งคิดว่าต้นทุนที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อเพิ่มการควบคุม กับผลลัพธ์ที่ได้มามันคุ้มกันไหม อย่างถ้าเราไปแนะนำการควบคุมมากไป อย่างเช่น ตรวจเช็คเอกสาร มีคนมารีวิว อาจทำให้ธุรกิจดำเนินช้า การบริการลูกค้าช้า เพราะฉนั้นผู้ตรวจสอบภายในก็ต้องคำนึงถึงมุมธุรกิจด้วย ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงมุมของความเสี่ยงด้วย จับให้สมดุลกัน
เนื่องจากอาชีพผู้ตรวจสอบภายในมันไม่เหมือนกับอาชีพพวกนักบัญชี หรือผู้ตรวจสอบบัญชี ที่มีองค์กรมาควบคุมค่อนข้างเข้ม งานของเราจริงๆแล้วขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร แต่ว่าทางสากลก็จะมีหน่วยงานที่เป็นของผู้ตรวจสอบภายใน เขาก็จะมีแนวทางมาให้ว่าขั้นตอนการรับงานควรจะเป็นอย่างไร
หลักๆ แล้วเราก็จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเวลาเราได้งานมาก็คือการวางแผน วางแผนหมดเลย อย่างแรกก็คือวางแผนบุคลากรก่อน ในบริเวณที่เราจะไปตรวจ คนของเรามีความรู้ไหม อย่างเช่นถ้าเราจะต้องไปตรวจงานของฝ่ายบุคคล ทีมงานของเราที่จะเข้าไปตรวจก็ควรจะมีความรู้ด้านทรัพยากรบุคคล หรือถ้ายังไม่มี เราจะให้เขาไปหาความรู้ด้านนี้ได้ไหม เขาก็ต้องไปรู้หลักการของการรับคน การสัมภาษณ์คน การดูแลรักษาคน สวัสดิการต่างๆ อันนี้ก็เป็นความรู้เบื้องต้นที่ต้องมี
พอเราได้คนแล้ว ในขั้นตอนของการวางแผน เราก็ต้องกำหนดว่างานนี้ใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ ก็ไปกำหนดว่าจะใช่เวลาเท่าไหร่ดี พอได้คน ได้เวลา ก็มาจัดสรรเรื่องงบประมาณ พอได้ทีมมาแล้วก็ต้องมาช่วยกันพัฒนาวิธีการตรวจ ต้องมาดูว่าในฝ่ายบุคคลมีความเสี่ยงอะไรบ้าง อย่างมีความเสี่ยงเรื่อง Employee Turnover (ต้องเปลี่ยนพนักงาน) สูง เขาก็ต้องช่วยกันระบุความเสี่ยงขึ้นมาก่อน แล้วก็ดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง อาจเกิดจากสวัสดิการไม่ดี คู่แข่งเยอะ แล้วเราก็ต้องมาดูว่าในองค์กรของเราจัดการกับปัญหานี้อย่างไร เช่น มีการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานเป็นประจำ มีการปรับเงินเดือนให้พนักงานเป็นประจำ ฯลฯ
พอได้แผนแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือการลงตรวจหน้างานจริงๆ เอาแผนที่เราได้ไปทดสอบ เช่น บริษัทนี้มีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการดูแลรักษาพนักงาน เราก็ไปขอนโยบายมาดูว่า นโยบายที่เขามีการกำหนดนี้ ดูแลดีหรือยัง มีอะไรที่เราจะแนะนำเพิ่มเติมได้ไหม เมื่อนำสวัสดิการมาเปรียบเทียบกับคู่แข่งแล้วสู้กันได้ไหม มีอะไรที่ควรปรับปรุงหรือไม่
ต่อมาก็มาถึงขั้นรายงานผล ซึ่งมีได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแบบปากเปล่ากับผู้บริหาร ออกเป็นรายงาน บันทึก หนังสือ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร สิ่งสำคัญของการรายงานผลคือไปชักจูงใจให้คนที่เราไปตรวจ ผู้บริหารที่กำลังรับฟังสิ่งที่เราพบ เห็นประเด็นตามเราว่าสิ่งที่ต้องปรับปรุงนั้นต้องถูกปรับปรุงจริงๆ มันมีความเสี่ยงอยู่ อะไรที่ทำดีแล้วก็บอกให้เขาทราบว่าทำดีต่อไป และมีอะไรต้องปรับปรุงเพิ่มเติมบ้าง
เมื่อรายงานเสร็จสิ้นแล้วมันยังไม่จบ ขั้นตอนสุดท้ายก็ต้องมีการติดตามว่าหน่วยงานที่เราไปตรวจเขามีการแก้ไขประเด็นหรือว่าสิ่งที่เราแนะนำไปเขาดำเนินการเสร็จสิ้นหรือยัง ขั้นตอนนี้เราเรียกว่า Follow up
งานผู้ตรวจสอบภายในมันเหมือนต้องรวบรวมความรู้หลายๆ ด้าน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปตรวจอะไรด้วย เช่น เราจะไปตรวจบัญชีก็ต้องมีความรู้บัญชีเบื้องต้นมาก่อน ตรวจฝ่ายจัดซื้อก็ต้องมีความรู้ธุรกิจจัดซื้อด้วย จะไปตรวจหน่วยงานที่ทำหน้าที่ก่อสร้างหรือบริหารอาคารก็ต้องมีความรู้เรื่องการก่อสร้างบริหารอาคารบวกกับความรู้พื้นฐานด้านบัญชีหรือการควบคุมทั่วไป ต้องเรียนรู้เรื่อยๆ แล้วก็ต้องดูว่าเราจะไปทำงานในแผนกไหนแล้วไปหาความรู้ด้านนั้นๆมา
Career path/ความก้าวหน้าของสายอาชีพ
ถ้าพูดถึงบัญชีเลย ไม่ใช้ผู้ตรวจสอบภายใน บัญชีเนี่ยเป็นพื้นฐานทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นการเติบโตในองค์กรของคนที่จบบัญชีมันก็หมุนไปได้เยอะ อย่างพี่เองก็ไม่ได้เริ่มต้นเป็นผู้ตรวจสอบภายใน พี่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี เสร็จแล้วก็ไปอยู่ฝ่ายนโยบายบัญชี แล้วถึงจะเปลี่ยนงานมาเป็นผู้ตรวจสอบภายใน เพราะฉะนั้นสำหรับพี่เอง พี่มองว่า ในองค์กร อาชีพหรือสายงานที่มันเกี่ยวข้องกับบัญชีมีเยอะแยะไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี ด้านบัญชี งบประมาณ ตรวจสอบภายใน เพราะฉะนั้นมันเชื่อมกันไปหมด หรือแม้แต่อยากจะเติบโตข้ามหน่วยงานก็สามารถหมุนไปได้ รวมถึงถ้าอยากจะเติบโตในสายอาชีพผู้ตรวจสอบภายใน สำหรับองค์กรใหญ่ๆ มันก็ขึ้นไปได้เรื่อยๆ
อย่างพี่อยู่ธนาคาร ลำดับขั้นก็ค่อนข้างเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นมันก็โตไปได้เรื่อยๆ ถึงรองกรรมการผู้จัดการเลยก็ได้ ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของคนๆนั้น
3. คุณค่าและผลตอบแทน
คุณค่า ผลตอบแทน ต่อตนเอง คนรอบข้างและสังคม
ในเรื่องของผลตอบแทนคงไม่สามารถบอกเป็นตัวเงินได้ มันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร อาชีพผู้ตรวจสอบภายในก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ขาดแคลน ปัจจุบันหลายๆ องค์กรก็ต้องการผู้ตรวจสอบภายในที่มีความรู้ความสามารถ เพราะงานของผู้ตรวจสอบภายในเองไม่ได้เป็นงานตรวจหรือให้ความเชื่อมั่นอย่างเดียว มันเป็นงานให้คำปรึกษาด้วย เพราะฉะนั้นผู้ตรวจสอบภายในเก่งๆ ที่สามารถให้คำปรึกษาที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับกระบวนการทำธุรกิจได้ ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก็สูงอยู่แล้ว ถ้าพูดตามความจริงในธุรกิจธนาคาร ผู้ตรวจสอบภายในในธนาคารเองก็ย้ายกัน โอนข้ามธนาคาร มีการดึงตัว ซื้อตัวกัน เป็นเรื่องปกติเพราะว่าความขาดแคลนของวิชาชีพ
นอกจากผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินแล้ว ไม่เพียงแต่ผู้ตรวจสอบภายใน แต่เป็นคนที่เรียนวิชาชีพบัญชี คนที่เรียนมาทางด้านบัญชี เราถูกฝึกมาให้เป็นคนที่มีระเบียบ มีความละเอียด รอบคอบ มีการวางแผนต่างๆ ที่ค่อนข้างเป็นระบบ อันนี้เห็นได้ชัดเลยว่าสามารถเอามาใช้กับชีวิตได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางเป้าหมายในชีวิต การจัดระเบียบ การวางแผนต่างๆ พอขยับขึ้นมาในแง่ของผู้ตรวจสอบภายใน สิ่งที่ได้กับตัวเราเอง ผู้ตรวจสอบภายในส่วนใหญ่จะเป็นคนที่รู้จักความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ในแง่ของการบริหารความเสี่ยง อันนี้สามารถเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ตั้งเยอะแยะ สมมติเราต้องการจะเดินทางไปงานแต่ง คนส่วนใหญ่ก็จะใช้ทางเดียว แต่ในแง่ของผู้ตรวจสอบภายในเขาก็ต้องมีทางเลือกแล้ว ถ้าไปทางนี้อาจจะรถติด ไปไม่ทัน เราจะต้องมีแผนสองหรือเปล่า ผู้ตรวจสอบภายในเขาก็จะดูว่าอันนี้มันมีความเสี่ยงอยู่นะ เราจะสามารถจัดการกับมันได้หรือเปล่า
ส่วนในแง่ของสังคม อาชีพผู้ตรวจสอบภายในมันเป็นอาชีพที่ค่อนข้างสำคัญเลยทีเดียว เพราะเราช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับองค์กรต่างๆ ให้กับผู้บริหาร ว่ากระบวนการต่างๆ มันทำถูกกฎหมาย และนโยบายที่กำหนดไว้หรือเปล่า อีกบทบาทหนึ่งของเราก็คือ ถ้ามันมีทุจริต บางทีเราก็เข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย ก็เหมือนกับเข้าไปช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับองค์กร พอเราช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับองค์กร ก็เท่ากับเราป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ถือหุ้นด้วย เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นๆ และอย่างที่บอก เราตรวจสอบในของเขตที่กว้าง รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย การจ่ายภาษีด้วย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ให้กับสังคม ถ้าภาษาทางวิชาการก็คือเราช่วยรับรองว่าองค์กรมีธรรมาภิบาลที่ดี ตอบแทนต่อสังคม ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม มีการให้ต่อสังคมที่มากขึ้น ผู้ตรวจสอบภายในก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่เข้าไปดูว่ากระบวนการขององค์กรนี้ถูกจัดไว้อย่างเหมาะสมแล้ว
สิ่งที่ต้องสูญเสีย
พี่มองว่าอาชีพทุกอาชีพมันคล้ายๆกัน จะพูดว่าเสียเลยมันคงไม่ใช่ อย่างสมมติบางคน เป้าหมายชีวิตเขาอาจจะต้องการทำงานสบายๆ ไม่ได้ทะเยอทะยานอะไรมาก ด้วยความที่เขาพอใจในสิ่งนี้ ความก้าวหน้าเขาก็อาจจะไม่มากเท่าที่ควร แต่มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาพอใจก็ได้ แต่พี่เชื่อว่าพื้นฐานของคนส่วนใหญ่จะรักความก้าวหน้า ทะเยอะทะยาน เพราะฉะนั้นได้การจะได้มาซึ่งการเติบโตในองค์กร หรือเงินเดือนที่สูง เชื่อว่าทุกอาชีพมันต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักทั้งนั้น ทำงานหนักหมายถึงการทำงานอย่างฉลาด ไม่ใช้ใส่แต่แรง ทำงานหนักอย่างเดียว หนักในเชิงของเราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วย เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ แล้วเราก็ต้องทุ่มเทให้กับองค์กร เหมือนเราให้คุณค่ากับองค์กรได้เท่าไหร่ เขาก็จะมองเห็นเรามากเท่านั้น อันนี้ก็เหมือนเป็นธรรมชาติของชีวิต เช่น เราให้คุณค่ากับครอบครัว สังคม บริษัทที่เราทำงาน คนก็มองเห็นในคุณค่าของเรา การรับรู้ของแต่ละคนมันก็นำมาซึ่งผลบางอย่าง เช่น เราให้คุณค่ากับครอบครัว ก็นำมาซึ่งความอบอุ่น ความรัก เช่นกัน เราให้คุณค่ากับองค์กร ผู้บริหารมองเห็นเรา ก็อาจจะกลับมาในรูปแบบของโบนัส สวัสดิการ เงินเดือน
4.ทักษะ ความรู้ ความสามารถ
จากที่เห็น ผู้ตรวจสอบภายในส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานมาจากบัญชี เพราะงานและภาษาทางบัญชีมันเหมือนเป็นภาษาทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นคนที่เรียนอยู่ในวิชาชีพบัญชี ไม่ว่าจะเป็นบัญชีปกติ บัญชีการเงิน ทำงบ เขาก็เรียนบัญชีต้นทุน หาจุดต้นทุนต้องผลิตเท่าไหร่ และเขาก็จะมีการเรียนวิชาด้านการตรวจสอบโดยเฉพาะ เขาก็จะมีสอนเทคนิคการตรวจสอบต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ตรวจสอบภายในส่วนใหญ่จะมีพื้นฐานจบบัญชีเป็นหลัก
แต่ว่าปัจจุบันผู้ตรวจสอบภายในก็หลากหลาย สัดส่วนของเด็กจบบัญชีอาจจะมาก แต่ก็มีทางด้านอื่นด้วย อย่างปัจจุบันโลกหันไปใช้ทางไอทีมากขึ้น เราก็ต้องการผู้ตรวจสอบภายในที่มีทักษะทางด้านไอที หรือใช้โปรแกรมเข้ามาตรวจสอบ พักหลังๆ ก็เริ่มมีคนที่จบทางด้านไอทีมาเยอะขึ้น รวมถึงบางงานเป็นด้านที่เราไม่มีความรู้เลย เช่นเรื่องของกฎเกณฑ์ทางการต่างๆ เราอาจจะจำเป็นจะต้องไปใช้นักกฎหมายมาร่วมทีม เพราะฉะนั้นปัจจุบันคนที่เข้ามาอยู่ในอาชีพนี้จะหลากหลายมากขึ้น แต่โดยสัดส่วนเยอะจริงๆ ก็ยังเป็นนักบัญชีอยู่
ทักษะอื่นๆเพิ่มเติมที่มีแล้วจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บัญชีมันอาจจะเป็นวิชาชีพเกินไป สิ่งเสริมที่พี่มองว่าไม่ได้แค่เฉพาะอาชีพผู้ตรวจสอบภายใน แต่สำหรับทุกอาชีพเลย ปัจจุบันเราจะต้องเน้น Soft Skills มากๆ เช่น ทักษะในเรื่องของการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น การนำเสนอ พวกนี้พี่ว่าเป็นส่วนที่เสริมเข้ามา รวมถึง EQ ก็เป็นสิ่งสำคัญ การเข้าไปตรวจคุณไม่ได้ทำงานคนเดียวแน่นอนครับ คุณต้องทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับทีมแล้วมีความสุข ก็เป็นสิ่งสำคัญ การเข้าไปตรวจแล้วมีการสื่อสาร นำเสนอแล้วจูงใจ หรือพูดเรื่องยากๆ ให้คนที่เราไปตรวจแล้วเขาไม่รู้เข้าใจได้ อันนี้มันเป็นสิ่งสำคัญหมด เพราะฉะนั้นส่วนเสริมของผู้ตรวจสอบภายในคงไม่ใช่ความรู้ด้านวิชาชีพ แต่เป็น Soft Skills พวกนี้ที่เข้ามาเสริม
แหล่งที่มา : www.a-chieve.org