ข่าวสาร

| วันศุกร์, 29 กรกฎาคม 2565 |
Written by 

แผนสืบทอดตำแหน่งงานที่หลายบริษัทมองข้าม

การที่หลายบริษัทละเลยการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน อาจส่งผลกระทบและเกิดปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ผู้เขียนจึงขออธิบายความสำคัญของการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน ปัจจัยในการพิจารณาการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน และความเสี่ยงที่ไม่จัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน เพื่อให้ทุกบริษัทพิจารณาและจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงานให้เหมาะสมกับบริษัทของท่าน

แผนสืบทอดตำแหน่งงาน (Succession Planning) คือ การวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่ง เป็นกระบวนการเชิงรุกที่จะช่วยลดปัญหาการขาดพนักงานใหม่ในตำแหน่งสำคัญ ๆ เพราะเป็นกลยุทธ์ที่ประเมินสถานการณ์และคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าว่าบริษัทจะสรรหา พัฒนา และเตรียมพนักงานคนใดไว้ทดแทน โดยจะสามารถสรรหาคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงเข้ามาทดแทนได้ทันทีในกรณีที่ตำแหน่งนั้นว่าง



โดยปัจจัยในการพิจารณาการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน ให้สอดคล้องกับบริบทของบริษัท ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ปัจจัยการเกษียณอายุ บริษัทจะต้องมีหลักเกณฑ์การเกษียณอายุที่ชัดเจน หากไม่มีการกำหนดอายุเกษียณ พนักงานที่มีอายุเยอะก็จะทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำงานไม่ไหว ส่งผลให้พนักงานที่มีความรู้ ความสามารถเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบริษัท จึงจำเป็นต้องนำปัจจัยนี้มาพิจารณาเกี่ยวกับการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงานได้

2. ปัจจัยความก้าวหน้าตามสายอาชีพ ปัจจัยนี้เป็นอีกส่วนที่สำคัญในการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน โดยบริษัทต้องวางแผนความก้าวหน้าของสายอาชีพแต่ละตำแหน่ง ว่าจะเติบโตไปในทิศทางใดและจะต้องพัฒนาไปตามเกณฑ์ที่วางไว้ในแต่ละระดับ ปัจจัยนี้ยังเกี่ยวข้องกับการโอนย้าย หมุนเวียนงาน ซึ่งจะทำให้พนักงานมีโอกาสได้ทำงานต่างๆ ครบถ้วนก่อนที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

3. ปัจจัยการประเมินผลและศักยภาพของพนักงาน บริษัทต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินผลพนักงานอาทิเช่น KPI รายบุคคล บุคลิกภาพ ทัศนคติ เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพนักงานว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะถูกพัฒนาไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไปได้

4. ปัจจัยด้านคุณสมบัติและการศึกษา บริษัทต้องมีการกำหนดคุณสมบัติด้านการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานขั้นต่ำของพนักงาน เพื่อช่วยให้บริษัทสรรหาพนักงานให้เป็นไปตามที่คาดหวัง

โดยบริษัทจะต้องนำปัจจัยที่ข้างต้นนำมาพิจารณาในการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน หรืออาจกำหนดปัจจัยอื่นเพิ่มเติมจากที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ เพื่อให้เหมาะสมกับองค์กร และหากไม่มีการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน อาจเกิดความเสี่ยงตามมา เช่น ความเสี่ยงของการขาดบุคลากรในการทำงาน ความเสี่ยงของการสร้างอิทธิพลจากผู้บริหารบางคน ความเสี่ยงของการคัดเลือกผู้บริหารไม่เหมาะสม ความเสี่ยงของผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ เป็นต้น


ถ้าหากบริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำแผนสืบทอดตำแหน่งงาน ก็จะทำให้องค์กรมีผู้บริหารที่มีความรู้ ความสามารถที่จะมาบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้


เรียบเรียงโดย คุณปัณณวิชญ์ บุญเลิศ ผู้ตรวจสอบภายใน บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

Last modified on วันอังคาร, 20 กันยายน 2565