จากข่าวของ Stark และบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน คณะกรรมการหรือแม้กระทั่งฝ่ายบริหาร เริ่มให้ความสำคัญกับระบบการควบคุมภายใน เราในฐานะ IA ควรเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานตรวจสอบภายใน และควรให้ความสำคัญกับความผิดปกติของข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรวจพบ และนำไปขยายผลเพื่อเฝ้าระวังหรือตรวจพบการดำเนินงานที่ผิดปกติของกิจการได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ IA ควรให้ความสำคัญกับความผิดปกติต่าง ๆ ของข้อมูลทางการเงินโดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
1. รายได้ที่เกินจริง และมีความไม่สอดคล้องของรายได้กับกระแสเงินสด
IA ควรระวังการนำรายการขายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตมาบันทึกเป็นรายได้ปัจจุบัน ซึ่งจะดูได้จากการมีรายได้ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือในปริมาณมาก แต่กลับไม่มีการเพิ่มขึ้นของกระแสเงินสดที่สอดคล้องกันในกรณีที่ IA มีแผนการตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการขายหรือการบันทึกรายได้ของกิจการ อาจใช้วิธีการสุ่มตรวจสอบการนำคำสั่งซื้อลูกค้าหรือมาบันทึกรายได้ โดยเฉพาะคำสั่งซื้อสำหรับลูกค้าใหม่หรือลูกค้าที่มีความเกี่ยวโยงกันว่า เป็นการรับรู้รายได้ย้อนแย้งกับความเป็นจริงหรือเงื่อนไขในสัญญาหรือไม่ เช่น เป็นการนำคำสั่งซื้อที่ยังไม่มีการส่งมอบสินค้า/บริการมาบันทึกเป็นรายได้งวดปัจจุบัน หรือบันทึกเป็นรายได้รับล่วงหน้าในขณะที่ยังไม่มีการรับเงินจริง หรือ IA อาจใช้วิธีการดูแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของตัวเลขรายได้ในแต่ละเดือนหรือไตรมาส เปรียบเทียบกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกระแสเงินรับจากการดำเนินงานว่ามีความสอดคล้องกับหรือไม่ เป็นต้น
2. การเพิ่มมูลค่าสุทธิของสินทรัพย์
ควรระวังการเพิ่มมูลค่าสุทธิของสินทรัพย์โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาและการประมาณการอายุการใช้งานของสินทรัพย์ที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น บริษัททำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีการสั่งซื้อแผงโซล่าเซลล์จากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นแผงโซล่าเซลล์จึงถือเป็นทรัพย์สินหลักของกิจการ เพราะมีปริมาณมากและมีมูลค่าสูง ต่อมากิจการมีการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของแผงโซล่าเซลล์จาก 3 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 5 - 7 ปี แยกตามรุ่นและประเภทแผงโซล่าเซลล์ โดยฝ่ายบริหารให้เหตุผลว่า จากประวัติการใช้งานพบว่า แผงโซล่าเซลล์มีอายุการใช้งานจริงเฉลี่ย 5 – 7 ปี ซึ่งมากกว่า 3 ปีที่ได้ประมาณการไว้ ซึ่งจากการเพิ่มอายุการใช้งานของตู้แผงโซล่าเซลล์นั้นทำให้บริษัทมีค่าเสื่อมราคาต่อปีลดน้อยลง จึงทำให้กิจการมีมูลค่าสินทรัพย์ (ราคาตามบัญชี = ราคาทุน - ค่าเสื่อมราคา) รวมถึงมีผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น (ค่าเสื่อมราคาถือเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี) ดังนั้นหากจะดูความผิดปกติในส่วนนี้ IA ควรเน้นดูการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง (ทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า) และเป็นทรัพย์สินหลักของกิจการว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีอย่างเหมาะสมและมีหลักฐานรองรับที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เช่น กิจการมีทรัพย์สินที่มีมูลค่าคงเหลือทางบัญชี 1 บาท แต่ทรัพย์สินยังอยู่ในสภาพดี สามารถใช้งานได้อีกนานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของทรัพย์สินดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากผู้สอบบัญชีโดยไม่มีเงื่อนไขใดเพิ่มเติม
3. การซ่อนข้อผูกพันและหนี้สิน
การปกปิดไม่นำข้อผูกพันและหนี้สินมาแสดงในงบการเงินอาจทำให้ข้อมูลทางการเงินเสียหาย ไม่สะท้อนตามสภาพที่แท้จริงของกิจการ เช่น การไม่นำในกรณีนี้ IA อาจตรวจพบสัญญาที่ไม่ถูกนำมาบันทึกบัญชีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ หรือตรวจพบจากการบันทึกตั้งเจ้าหนี้หรือการจ่ายเงินที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขในสัญญา เช่น การบันทึกตั้งเจ้าหนี้หรือทำจ่ายเงินไม่ครบตามสินค้า/บริการที่ได้รับจริง ไม่สอดคล้องกับปริมาณ มูลค่าหรือเงื่อนไขความรับผิดชอบที่เป็นภาระผูกพันตามที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ หรือ มีรายการเจ้าหนี้คงค้างนานผิดปกติโดยไม่มีการระบุเหตุผลและสถานะการติดตามรายการคงค้างอย่างเหมาะสม เป็นต้น
4. ธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ควรตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องและโครงสร้างธุรกรรมการเงิน เพื่อพิจารณามูลเหตุที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาด และการละเว้นสิ่งที่พึงเปิดเผย ในกรณีนี้ IA อาจตรวจสอบรายละเอียดการทำธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกัน โดยเฉพาะรายการใหม่หรือรายการที่มีมูลค่าสูงผิดปกติ และนำมาตรวจสอบว่า
(1) มีการขออนุมัติการทำธุรกรรมและมีการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกรรม เหตุผลความจำเป็นในการทำธุรกรรมเป็นไปหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดหรือไม่
(2) สำหรับรายการขนาดใหญ่มีการขอความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก เช่น ที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริหาร คณะกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นมีข้อมูลที่เพียงพอประกอบการพิจารณาอนุมัติการทำรายการหรือไม่ และ
(3) ตรวจสอบรายละเอียดเพื่อดูความผิดปกติของการทำรายการที่เกี่ยวโยงกันว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นต้น
5. การก้าวกระโดดอย่างมากของผลประกอบการในปีบัญชี
ควรระมัดระวังเมื่อมีการกระโดดขึ้นอย่างมากในผลประกอบการของบริษัทในรอบการรายงานสุดท้ายของปีบัญชี เนื่องจากอาจบ่งชี้ถึงการพยายามปรับปรุงให้ผลประกอบการบรรลุเป้าหมายด้วยการแก้ไขผลงาน ในกรณีนี้ IA ควรมีการติดตามแนวโน้มของผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนหรือไตรมาส โดยหากพบความผิดปกติ อาจนำข้อมูลไปขยายผลโดยการสอบทานข้อมูลงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบการเงิน รายงาน one Report การสอบถามฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
6. การเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชี
ควรสืบค้นเหตุผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหากเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่หายไป เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนในความผิดปกติ ในกรณีนี้ IA ควรมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าวของกิจการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การสอบถาม CFO หรือการสอบทานงบการเงินว่ามีการเปลี่ยนแปลงผู้สอบบัญชีหรือไม่ และนำข้อมูลไปขยายผลต่อไป
7. การควบคุมภายใน การกำกับดูแลที่อ่อนแอ
ควรมีการเสริมสร้างการควบคุมภายใน เพื่อลดความเสี่ยงของการฉ้อฉล ส่งเสริม ความโปร่งใส และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ในกรณีนี้ IA สามารถประเมินจากการให้ความสำคัญเรื่องระบบการควบคุมภายในและกำกับดูแลกิจการที่ดีของฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการตรวจสอบได้ เช่น การให้ความสำคัญในการแก้ไขประเด็นที่ตรวจพบอย่างยั่งยืน มิใช่แก้ไขเพียงเพื่อปิดประเด็น หรือ การให้ความสำคัญในการแก้ไขประเด็นที่ตรวจพบ ไม่มีประเด็นคงค้างนานโดยไม่มีเหตุผลที่สมควร รวมถึงการสร้างข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลของฝ่ายบริหาร รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบไม่ได้ท้วงติงหรือสอบถามเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวจากฝ่ายบริหารอย่างชัดเจน โปร่งใส เป็นต้น
8. ธุรกรรมกับบุคคลที่สามมีความซับซ้อน
จำนวนธุรกรรมกับบุคคลที่สามที่มีความซับซ้อนมากเกินไป อาจบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขรายงานการเงินและควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ในกรณีที่ IA มีแผนการตรวจสอบเกี่ยวกับกระบวนการขาย หรือ กระบวนการจัดซื้อ จัดจ้าง หากมีสัญญาณบ่งชี้ความผิดปกติ เช่น มีข้อกังวลจากคณะกรรมการตรวจสอบ หรือจากการสัมภาษณ์หน่วยงาน เช่น ฝ่ายขาย จัดซื้อ หรือบัญชีและการเงิน เป็นต้น IA อาจนำมูลค่าการซื้อขายของลูกหนี้/เจ้าหนี้ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูง โดยเฉพาะรายการที่ทำกับลูกหนี้/เจ้าหนี้รายใหม่ หรือลูกหนี้/เจ้าหนี้ที่มีความเกี่ยวโยงกัน มาตรวจสอบเงื่อนไขการซื้อขายว่า มีความซับซ้อนอย่างผิดปกติหรือไม่ และนำไปขยายผลเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติม
อ้างอิง : Tips for Directors 8 ตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับคณะกรรมการในการตรวจจับความผิดทางการเงิน
เรียบเรียงโดย คุณฤทัยชนก สุภาพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบภายใน