เมื่อไม่นานมานี้ ก.ล.ต. หรือ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กำหนดให้มีการรวมแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ให้เหลือเพียงรายงานเดียว (56-1 One report) ที่ได้ปรับปรุงให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG in-process) (Environmental, Social and Governance : ESG) สำหรับบริษัทจดทะเบียน ให้เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแบบ 56-1 One report ตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ส่วนบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ให้เริ่มเปิดเผยข้อมูลในแบบ 69-1 ที่ยื่นตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
ทุกท่านคงมีความสงสัยว่ารายงานความยั่งยืนคืออะไร ต่างอะไรกับ 56-1 one report วันนี้ ทางเราจะมาบอกเล่าให้ทุกท่านทราบโดยกระจ่างไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เป็นเอกสารที่ใช้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่องค์กรจัดทำขึ้นเพื่อสนองความต้องการในปัจจุบัน ที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น ลูกค้า ชุมชน และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน รายงานความยั่งยืนมีอีกหลายชื่อที่ใช้เรียกในความหมายเดียวกัน เช่น รายงานความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR Report) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development หรือ SD Report) รายงานความเป็นพลเมือง (Citizenship Report) รายงานไตรสังสิทธิ (Triple-Bottom Line Report) ซึ่งล้วนแต่สนับสนุนให้องค์กรใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอข้อมูลผลประกอบการครอบคลุมในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งสิ้น
ในส่วนของรายงาน 56-1 One Report คือการปรับปรุงการแสดงรายการข้อมูลในหัวข้อ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เป็น “การขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน” เพื่อให้สะท้อนการดำเนินการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG-in-process) ยิ่งขึ้น โดยให้บริษัทเปิดเผยภาพรวมของนโยบายการจัดการความยั่งยืน เป้าหมายการจัดการด้านความยั่งยืน การจัดการผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ (Value Chain) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการความยั่งยืนในมิติสังคม เป็นต้น
ดังนั้น ถ้าเราดูทั้งสองรายงานแล้วนั้น จะมีความเหมือนกันในการแสดงข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในส่วน 1.ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับองค์กร 2.ข้อมูลผลการดำเนินงานและตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน เพียงแต่อยู่ที่รูปแบบที่บริษัทจะเลือกเปิดเผยข้อมูลนั้นเองว่าจะใช้รูปแบบใด จะเปิดเผยแบบรายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปีตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนด ซึ่งสามารถ ดูรูปแบบได้จาก คู่มือการจัดทำ 56-1 onereport จาก ก.ล.ต หรือการเปิดเผยข้อมูลโดย รายงานความยั่งยื่น ซึ่งอาจมีชื่อเรียกหลากหลายอย่างที่กล่าวไว้ด้านบน หากแต่ถ้ากล่าวถึง การเปิดเผยแบบรายงานความยั่งยืน อาจต้องใช้มาตราฐานระดับโลกอย่าง Global Reporting Initiative (GRI) หรือ GRI Standards ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน โดยเน้นการเปิดเผยข้อมูล 2 ระดับ คือ การรายงานข้อมูลทั่วไป (Universal Standards) ตามแนวปฏิบัติ GRI 101 (Foundation) GRI 102 (General Disclosures) และ GRI 103 (Management Approach) และการรายงานข้อมูลตามประเด็นสาระสำคัญในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Topic-Specific Standards) ตามแนวปฏิบัติ GRI 200 (มิติเศรษฐกิจ) GRI 300 (มิติสิ่งแวดล้อม) GRI 400 (มิติสังคม) ดังนั้นบริษัทสามารถเลือกจัดทำการเปิดเผยข้อมูลได้ตามความเหมาะสมนั่นเอง
ผู้เขียน: ดร.เพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด