ข่าวสาร

| วันจันทร์, 16 มกราคม 2560 |

10 ซีอีโอ แนะบริหารความเสี่ยง!

ทุกภาคส่วนยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอก หากรับมือไม่ทัน อาจทำให้เศรษฐกิจไทยแตะเบรกได้ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก”ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจมุมมองจาก 10 ซีอีโอ ถึงหลักคิดในการบริหารความเสี่ยง!

 

ทุกภาคส่วนยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอก หากรับมือไม่ทัน อาจทำให้เศรษฐกิจไทยแตะเบรกได้ เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก”ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจมุมมองจาก 10 ซีอีโอ ถึงหลักคิดในการบริหารความเสี่ยง!

ซีอีโอแนะบริหารความเสี่ยง

ปี2560 แม้จะเริ่มมองเห็นสัญญาณบวกจากแรงส่งท้ายปี2559 ดูจากภาคเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้นหลังราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวค่อนข้างดี รวมถึงการส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณบวก อีกทั้งมีความหวังว่า การลงทุนภาครัฐจะขับเคลื่อนได้ และจะเป็นตัวเร่งสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ยังมีข้อกังวลว่า ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ซึ่งควบคุมไม่ได้ จะเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นกัน “ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลมุมมองจาก 10 ซีอีโอ บริษัทชั้นนำ ถึงการมองความเสี่ยงและวิธีการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว

ต้องกระจายไปหลายตลาด เพื่อลดความเสี่ยง
อิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่อาจมีผลกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจไทยปี 2560 ที่น่ากังวลได้แก่ นโยบายของนายโดนัลด์ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่ดูเหมือนจะต่อต้านสินค้าจีน ซึ่งในส่วนของสินค้าไทยก็มีทั้งที่ส่งออกไปสหรัฐฯและจีนด้วย หากสินค้าจีนถูกต่อต้านและส่งออกไปสหรัฐฯลดลง การนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยเพื่อไปผลิตส่งออกต่อก็จะลดลงด้วย

นอกจากนี้ในปี 2560 มีหลายประเทศในยุโรปจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งนโยบายของว่าที่รัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และการค้าโลกได้ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากภัยก่อการร้ายในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มขยับสูงขึ้น อาจกระทบค่าขนส่งทั้งระบบ และยังมีเรื่องความผันผวนของเศรษฐกิจและค่าเงินของโลกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงของภาคเอกชนจะต้องมองหลายตลาดและกระจายตลาด อย่าไปกระจุกอยู่ที่เดียวเพื่อลดความเสี่ยง ที่สำคัญต้องบริหารจัดการองค์กรธุรกิจให้มีความเข้มแข็งและยืนอยู่ได้บนขาของตัวเอง

 

เอาความพอเพียงมาใช้จะเป็นภูมิคุ้มกันอย่างดี
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)

ปัจจัยที่จะมาฉุดภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ ล้วนมาจากภายนอกประเทศเป็นหลัก ดังนั้นการลงทุนจะต้องระมัดระวังมากขึ้น หรือขยายธุรกิจจะต้องมีความรอบครอบ ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องสำรวจสภาพตลาดให้มีความชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนหรือขยายกิจการ รวมทั้งจะดำเนินการใดๆ จะต้องหาหุ้นส่วนที่มีความไววางใจได้ ยึดถือการมีสติ และนำเอาความพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจ ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี

ขณะที่การบริหารทางการเงินนั้น ก็จะต้องใช้สินเชื่อลดลง หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพราะความผันผวนของค่าเงินจะขึ้นลงเร็ว ภาครัฐควรจะมีเครื่องมือ มาใช้กับสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการที่เป็นเอสเอ็มอี มาช่วย อย่างการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของเงินตราต่างประเทศ ทางสถาบันการเงินควรจะมีเครื่องมือให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงภายนอกเข้ามากระทบ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจในประเทศปี 2560 นี้ จะมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และขยายตัวได้ดีกว่าปี 2559 ซึ่งเครื่องยนต์ที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวในระดับ 3.5-4% ได้นั้น รัฐบาลจะต้องลงมาให้ความสำคัญกับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่

บีทีเอส ไม่เร่งเติบโตของราคาหุ้นและธุรกิจ
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ฯ (บีทีเอส )

บริษัทมีคณะกรรมการบริหารที่แข็งแรง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ จะอยู่ในกรอบการลงทุน 4 ธุรกิจหลักของกลุ่มบีทีเอส ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มการเดินรถ, กลุ่มธุรกิจสื่อ, อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริหารโรงแรม-อาหาร การลงทุนใน 4 กลุ่มหลักจะพิจารณาอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด ไม่ใจร้อนเร่งการเติบโตของราคาหุ้นและธุรกิจ สร้างความสบายใจให้กับสถาบันที่เข้าลงทุน

ส่วนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยปี 2560 มองว่าโตได้ด้วยการขับเคลื่อนของงานก่อสร้างโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น โครงการเดินรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ จะส่งผลดีต่อการสร้างงาน การใช้จ่ายภาครัฐ มีผลทำให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้าหมายไม่น้อยกว่า 3%

 

หลักเศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ได้
เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)

ปี2560 มองว่าความผันผวนต่อราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ราคาน้ำมันที่ยั่งยืน และมีเสถียรภาพคือไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป น่าจะอยู่ที่ประมาณ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ประเทศไทยต้องหาจุดสมดุลระหว่าง การพัฒนาและการอนุรักษ์ อย่างมีเหตุผลเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ปัจจุบันมีความคลุมเครือเกี่ยวกับ Gas Supply (สัมปทานก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการนำเข้า) โดยรัฐบาลได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยวางแผนลงทุนสร้าง Gas Infrastructure เพื่อนำเข้า Gas แต่การใช้ก๊าซในประเทศดีกว่าการนำเข้าเพราะ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่เสียเงินตราไปต่างประเทศ

ส่วนแนวทางที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดจากความท้าทายในอนาคตนั้น มองว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถตอบโจทย์ ของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง โดย Productivity จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี

ต้องรอบคอบระมัดระวังการใช้จ่าย
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย )

ปี 2560 สถานการณ์โลก มีความเสี่ยงกับความไม่แน่นอนหลังจากนโยบายของนายโดนัลด์ทรัมป์ ซึ่งเป็นคนกล้าคิด กล้าทำ ทั้งนโยบายการค้า หรือนโยบายภาษี ที่ออกมาส่งผลดีต่อสหรัฐฯ เห็นได้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวทะยานสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปี 2560 ต้องรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายที่เปลี่ยนไปของทรัมป์ โดยใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการใช้จ่าย

สำหรับประเทศไทยเศรษฐกิจปี 2560 เติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จีดีพี 3.5-4% ถือว่าเศรษฐกิจมีสถานะแข็งแกร่ง และปัญหาภัยแล้งลดน้อยลง หนี้ครัวเรือนถึงแม้ยังสูง แต่ภาระที่เกิดจากการคืนเงินรถคันแรกดีขึ้น ส่งออกยังเติบโตดี ฯ

ท่องเที่ยวรับมือปัจจัยเสี่ยง4 เรื่อง
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

ปัจจัยเสี่ยงปี 2560 ภาคท่องเที่ยว มองว่าเรื่องความปลอดภัย จากการก่อการร้าย และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับโลกต้องระมัดระวัง ซึ่งประเทศไทยจะได้ทั้งผลบวกและลบ ส่วนหนึ่งจะทำให้คนตัดสินใจไม่เดินทางหรืออยู่กับบ้าน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาเอเชียเพราะเห็นว่าปลอดภัยกว่า

ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ต้องดูนโยบายของสหรัฐฯ ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร เช่นเดียวกับยุโรป ที่ต้องจับตา เรื่องของ Brexit ส่วนภูมิภาคเอเชียที่น่าห่วงคือค่าเงินอินโดนีเซียที่จะมีการปรับค่าเงินโดยการตัดศูนย์ออกไป 3 ตัว ทำให้ค่าเงินปรับค่าสูงขึ้นกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเที่ยวเพราะจะแลกเงินได้น้อยลงและอาจปรับแผนมาเที่ยวเมืองไทยรวมถึงค่าเงินริงกิตของมาเลเซียที่อ่อนค่าลงอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวมากขึ้น

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ภาคเอกชนในวงการท่องเที่ยวต้องรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขื้นในปี 2560 มีอยู่ 4ประการคือ 1. ต้องปรับแผนการทำตลาดให้หลากหลายเพื่อลดความเสี่ยง 2. ต้องติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่าย 4. ต้องมีเครือข่ายในการทำการตลาด ที่เชื่อมโยงกันทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ

ให้คำปรึกษาลูกค้าที่มีศักยภาพใกล้ชิด
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)

ปี2560 เชื่อว่าธุรกิจอสังหาฯ จะแข่งขันสูงขึ้น และมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ภาคครัวเรือน ยังต้องเฝ้าระวัง สำหรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยจะเห็นว่าในช่วง 9 เดือนแรกปีที่ผ่านมา บริษัทมียอดการยกเลิกทั้งหมดประมาณ 22% โดยเป็นยอดปฏิเสธการอนุมัติจากธนาคาร 7% ที่เหลือเป็นยอดยกเลิกจากสาเหตุอื่นๆ โดยอัตราการยกเลิกจากสาเหตุอื่นๆ มีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภาพรวมตัวเลขการยกเลิก ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากบริษัทมีนโยบายบริหารจัดการโดยใช้แนวทาง Pre-approval รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีการติดตาม ให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าให้จีดีพีบรรลุเป้าหมายที่ 3.5-4% ได้นั้นคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจหลายโครงการไม่ว่าจะเป็น โครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 รถไฟทางคู่ทางหลวงและมอเตอร์เวย์และรถไฟฟ้าที่ได้อนุมัติจากครม.และมีการคัดเลือกผู้รับเหมาแล้วจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาขยายสู่ภูมิภาค ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง ตลอดจนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ที่มีการลงทุนทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศจะเป็นเครื่องมือสำคัญกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน

 

ความสามารถในการปรับตัวเป็นปัจจัยสำคัญ
ปนัดดา เจณณวาสิน กรรมการรองผู้จัดการบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้นั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีการส่งออกเป็นกลจักรสำ?คัญในการขับเคลื่อน ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยโดยรวมด้วย สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็น Brexit หรือนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามมาด้วยการแข็งค่าอย่างมากของเงินดอลลาร์สหรัฐฯนั้น แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้นในปี 2560 ความสามารถในการปรับตัว จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับทุกธุรกิจรวมทั้งธุรกิจยานยนต์ด้วย ไม่ว่าจะตั้งเป้าหมายหรือคาดการณ์ในลักษณะใด ต้องพร้อมที่จะแก้ไขและปรับเปลี่ยนได้อย่างทันเหตุการณ์ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลักเสมอ เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นใด ลูกค้าคือผู้ตัดสินใจ ส่วนสำหรับปัจจัยสำคัญที่จะทำให้จีดีพีของประเทศบรรลุตามเป้าหมายที่ 3.5-4% คือการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออก ทั้งนี้เครื่องมือสำคัญคงพิจารณาไปที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือภาคเกษตรกร

ให้น้ำหนักกลุ่มลูกค้าเก่าขยายลงทุน
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)

ปีหน้าปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกมาแรง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เราจะฝ่าปัจจัยเสี่ยงไปได้อย่างไรนั้น หลักง่ายๆ ต้องให้น้ำหนักกับกลุ่มลูกค้าเดิมที่ลงทุนอยู่แล้ว ชักจูงให้เข้ามาขยายการลงทุนต่อเนื่อง และไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น มีการวิจัยและพัฒนา ส่วนฐานลูกค้าใหม่เราก็ยังต้องออกไปแสวงหาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็น New S-curve เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ,เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิตอล,อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

New S-curve จะเป็นตัวเร่งในการไปสู่อุตสาหกรรม4.0 ซึ่งวันนี้นโยบายของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว เพียงแต่ต้องตอกย้ำ โดยเรามีทั้งกลุ่มประเทศเป้าหมายและกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ชัดอยู่แล้ว โดยมีพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนรองรับ และตามนโยบายประชารัฐ ต้องการจะช่วยเอสเอ็มอีให้ลดต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทุน ก็ให้ความสำคัญในการส่งเสริมเอสเอ็มอี มีโครงการจัดตั้งโรงงานสำเร็จรูปรองรับในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

 

ทุกประเทศสร้างเกราะป้องกันตัวเองก่อน
ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย

ประเมินเศรษฐกิจปี 2560 ยังเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่นิ่ง มีความเสี่ยงหลายด้าน เช่นนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ การเริ่มกระบวนการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะขึ้นกี่ครั้ง และยังมีเรื่องของการเลือกตั้งในหลายๆประเทศ

“ความที่ภาพยังไม่นิ่ง ยังไม่ชัด ย่อมส่งผลต่อการลงทุนไม่เกิด เพราะนักลงทุนไม่ใช่นักพนันทำให้กำลังซื้อของโลกก็ยังอ่อนแอต่อไป ทุกประเทศจึงสร้างเกราะป้องกันตัวเองก่อน เศรษฐกิจจีนที่ตกเพราะคนไม่ซื้อเมื่อคนไม่ซื้อ ใครที่ขายของให้จีนก็กระทบไปด้วย ส่งออกไทยก็เช่นกัน”

ส่วนการบริหารความเสี่ยงของธนาคารในสถานการณ์เช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ที่จะต้องเลือกที่จะให้ หรือไม่ให้สินเชื่อที่ต้องสอดคล้องไปกับสถานการณ์

“รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เทเลคอม อสังหาริมทรัพย์ นิคมอุตสาหกรรม อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ยังพอไปได้ ส่วนที่เหลือจากนี้ก็ไม่ใช่”

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561