ข่าวสาร

| วันพฤหัสบดี, 16 กุมภาพันธ์ 2560 |

เด็กไทยเข้าถึงเข้าใจคอร์รัปชัน แก้ปัญหาแบบจริงจังคือทางออก

จากการเผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน ประจำปี 2016 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่าประเทศไทยได้คะแนนความโปร่งใส 35 จากคะแนนเต็ม 100 อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก จากทั้งหมด 176 ประเทศ

 

ที่ทำการสำรวจ และเป็นลำดับที่ 4 ในภูมิภาคอาเซียนเทียบเท่าฟิลิปปินส์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาสั่งสมอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน


เด็กและเยาวชนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงในการช่วยขับเคลื่อนประเทศ...งานนี้เด็กๆ ของชาติจะมองการโกงและการคอร์รัปชันนี้อย่างไรบ้าง???


“การคอร์รัปชันคือ การทุจริต โรงเรียนของพวกเราทุกวันศุกร์จะมีการจัดการแสดง ‘โตไปไม่โกง’ เป็นโครงการที่ทางโรงเรียนทำมาตลอด โดยให้แต่ละชั้นปีสลับกันแสดงละครเกี่ยวกับเรื่องการคอร์รัปชัน เช่น การยักยอกเงิน การขโมยเงิน และการโกงข้อสอบ ฯลฯ หลายครั้งที่พวกเราหรือเพื่อนๆ ในโรงเรียนได้ร่วมแสดง ได้ชมการแสดง สิ่งที่ได้แน่นอนคือ ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่โรงเรียนจะห้ามทำเรื่องพวกนี้ มีการติดกล้องวงจรปิดด้วย เพราะถ้าคุณครูจับได้จะมีการลงโทษ ครั้งแรกแค่ตักเตือน ถ้ามีครั้งต่อไปอีกจะใช้วิธีบอกผู้ปกครอง และถ้าไม่เลิกทำก็มีวิธีหนักขึ้นเรื่อยๆ”


เป็นมุมมองจาก น้องแฟง ธราธาร ตันเอี่ยม น้องพลอย เพชรลดา ขันตรี และ น้องพัช พัชรา วงศ์อามาตย์ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสวนลุมพินี ที่ช่วยกันเล่าระหว่างเดินชมงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย บริเวณสวนลุมพินี


ไม่ต่างกับ บัญสภัสส์ ชยมรศมพัศ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนสวนลุมพินี ที่เคยได้ร่วมชมการแสดงละคร ‘โตไปไม่โกง’ บอกว่า เคยได้ไปดูการแสดง ตอนนั้นเป็นเรื่องของการโกงตาชั่ง โดยวิธีการโกง พ่อค้าแม่ค้าจะใช้มือกดตาชั่ง เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ปริมาณสินค้าเท่าเดิม แต่ได้ราคามากขึ้น และสิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เรื่องของความไม่ซื่อตรงไม่ซื่อสัตย์กับลูกค้า ไม่ควรทำตาม รวมถึงเมื่อไปซื้อของจะได้คอยสังเกตดูช่วยพ่อแม่ด้วย


ต่อด้วย ธนิชา จันทร์เทียน นักเรียนจากโรงเรียนสายปัญญา ให้ความคิดเห็นว่า การโกงและการคอร์รัปชัน หมายถึง การทุจริต อย่างส่วนตัวเป็นคนชอบเล่นโซเชียล โดยบ่อยครั้งจะได้เห็นได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการโกง เช่น การโกงเงินธนาคาร การปล้นธนาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ยุติธรรมเลย เพราะเงินที่อยู่ในธนาคารนั้นเป็นของส่วนรวม คนที่ทำแบบนี้ได้มีแต่ความเห็นแก่ตัว อยากได้ของคนอื่นจนมองข้ามความถูกต้อง


น้องเล็ก ธนากร แสงโชติ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บอกถึงความเข้าใจเพียงสั้นๆ ว่า จากที่ได้ดูตามข่าว อ่านตามหนังสือพิมพ์เข้าใจว่า การฟอกเงินแบบต่างๆ เป็นการโกงชนิดหนึ่ง อย่างการฟอกเงินบริษัท แสดงให้เห็นถึงความไม่ซื่อสัตย์ของคนที่ทำ ส่งผลเสียต่อบริษัทในเรื่องของรายได้ และเมื่อโดนจับได้ก็ต้องถูกไล่ออก ตกงาน


เด็กๆ ของชาติไม่เพียงแค่ให้ความหมายของการโกงและการคอร์รัปชันเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้แนะนำถึงแนวทาง วิธีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย อย่างเช่น ธนกิตต์ ทองแจ่ม นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนหอวัง มองว่า “ความหมายคล้ายๆ กัน อย่างการโกงในการลอกข้อสอบ สำหรับผมมอง 2 แบบ แบบแรกสอบย่อย เช่น สอบรายวิชาในชั้นเรียน และแบบที่สองข้อสอบใหญ่ เช่น สอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบข้าราชการ ซึ่งทุกคนก็ต้องหาวิธีทำให้ตัวเองรอด สอบผ่านให้ได้ แต่ไม่ว่าจะแบบไหนเราควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนคอร์รัปชันจะเป็นการโกงงบประมาณใหญ่ๆ พอได้งบมาจำนวนมาก แต่กลับใช้น้อยกว่างบที่ได้มา เรื่องทั้งหมดนี้ควรแก้ด้วยการปลูกฝังตั้งแต่เด็กให้รู้ว่าสิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นข้อเขียนให้หมด เพราะลอกยาก และสุดท้าปยต้องเพิ่มการคุมเข้มให้มากขึ้น”


เช่นเดียวกับ ฐิติมา พลยุทธ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนสายปัญญา บอกว่า สิ่งแรกที่นึกถึงเลย เรื่องข่าวที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นเรื่องของการโกงสอบนายสิบ มันคือสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรทำ ตอนได้ดูข่าวสงสารคนที่เขาตั้งใจ ขยันอ่านหนังสือ เตรียมตัวมาเต็มร้อยรอวันนี้วันที่เขาจะทำตามความฝันของตัวเอง คนที่เขาอยากทำหน้าที่ตรงนี้จริงๆ และควรแก้ไขด้วยการต้องตรวจสอบให้เข้มงวดมากกว่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก


ธนัชชา ยมโต นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เล่าให้ฟังว่า การโกงคือ การโกงเพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง อย่างเห็นได้ชัดตามโรงเรียนต่างๆ โกงในห้องเรียนด้วยการแอบดูข้อสอบ อยากสอบครั้งเดียวผ่าน หลายคนเมื่อถูกจับได้ โดนกาหัวกระดาษ แต่ครั้งต่อไปก็ทำอีก และสิ่งที่แก้ไขกลับกลายเป็นระวังตัวเองมากขึ้นไม่ให้โดนจับได้ ส่วนการคอร์รัปชัน น่าจะเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า นึกถึงเรื่องการเมือง การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด วิธีแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้แก้ยาก เป็นเรื่องจิตสำนึกของคน แต่หากแก้ได้จะดีมาก


ปิดท้ายกันที่ ไตรรักษ์ พิมพ์เชย นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนเมรี่อิมมาคุเลตคอนแวนต์ จังหวัดชลบุรี คิดว่า เป็นการเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ไม่ควรทำ ที่โรงเรียนคุณครูจะเปิดเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชันให้ดู จะสอนตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น อย่าเห็นแก่ตัว ห้ามแทรกแถว ทำให้เข้าใจมากขึ้น เมื่อผมเห็นเพื่อนหรือคนรู้จักทำผิดก็จะต้องบอกเขาอย่าทำ อธิบายโทษของมัน อย่างการลอกข้อสอบคนอื่น แอบดูข้อสอบในหนังสือหรือจดมา ก็จะบอกคนที่ทำว่า ถ้าไม่ฝึกทำเองโตขึ้นจะไม่เก่งและทำอะไรเองไม่ได้.

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : ไทยโพสต์

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561