ข่าวสาร

| วันจันทร์, 20 สิงหาคม 2561 |

รู้จัก...โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

 

รู้จัก ... โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต

 

CAC หรือ โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต นับเป็นหนึ่งในโครงการที่จะมาช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ

รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร่วมมือกับ 8 องค์กรชั้นนำในภาคเอกชนไทย ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หอการค้าไทย หอการค้านานาชาติ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดตั้ง ‘โครงการการสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต’ หรือเรียกสั้นๆว่า CAC  ซึ่งย่อมาจากคำว่า Collective Action Coalition against corruption และได้มอบหมายให้ IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการโครงการ รับหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ CAC โดยหนึ่งในแผนการดำเนินงานสำคัญคือ การขยายแนวร่วมปฏิบัติ เพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพิ่มจำนวนบริษัทในธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME)

การเชิญชวนและรณรงค์เพื่อสร้างแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น กับกระบวนการขอรับรองเข้าร่วมโครงการ (Certify) เพื่อตอบโจทย์ของประเทศเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นภาครัฐ โดยมีเอกชนเป็นฝ่ายให้ (ติดสินบน หรือ Bribery) เพื่อให้คนภาครัฐหรือฝ่ายรับ กระทำทุจริตต่อหน้าที่ (คอร์รัปชั่น) การติดสินบน (Bribery) กับคอร์รัปชั่น (Corruption) จึงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อยู่คนละด้าน (ให้เป็นที่เข้าใจกัน) หากมองในเชิงหลักการแล้วการติดสินบน (Bribery) จะเป็นวิธีการหนึ่งของคอร์รัปชั่น (Corruption) แต่ทั้งหมดก็คือรูปแบบของการกระทำทุจริต (Fraud) และคอร์รัปชั่นนั่นเอง

 

นิยามของคอร์รัปชั่นในภาคธุรกิจเอกชน

คือการยอม "จ่ายสินบน (Bribery) " หรือตกลง ยินยอมหรือสัญญาว่าจะให้ ผลประโยชน์ต่างๆ ตอบแทนที่มิชอบด้วยกฎหมายแก่เจ้าหน้าที่รัฐ การจ่ายสินบนของบริษัทเอกชนพอจะแบ่งกรณีที่ต้องไปจ่ายสินบนได้ 3 กรณีใหญ่
• กรณีแรก เป็นเรื่องของการซื้อความสะดวก รวดเร็ว หรือย่นระยะเวลาการขอรับบริการ ขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ
• กรณีที่สอง คือการจ่ายสินบนเพื่อซื้อความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง หรือซื้อความแน่นอนว่าจะได้รับเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐ ซึ่งกรณีนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบริษัทต้องการเป็นคู่สัญญารับงานผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ
• กรณีที่สาม คือการที่บริษัทจ่ายสินบนเพื่อแก้สิ่งผิดให้กลายเป็นถูก หรือซื้อความผิด ปัดรังควานจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เอาอำนาจตามกฎหมายมาขัดขวางการทำธุรกิจ

 

ทำไมยื่นรับรองไม่ผ่าน

บริษัทที่ยื่นขอรับรองและไม่ผ่าน ส่วนใหญ่มาจากเรื่องการประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) คือไม่ระบุความเสี่ยงทุจริตในรูปแบบของการคอร์รัปชั่น แต่ไประบุความเสี่ยงเฉพาะเรื่องทุจริตด้านการเงินและทรัพย์สิน การตกแต่งบัญชีของพนักงานบริษัท เป็นต้น
ถ้าได้มีการประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้ง 2 เรื่องและปรับปรุงการควบคุมภายใน (Internal Control) ไปพร้อมๆ กัน ก็จะเกิดประโยชน์ที่คุ้มค่าและได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกคนในองค์กร และเรื่องการควบคุมภายในเพื่อป้องกันการทุจริต ทั้งในรูปแบบคอร์รัปชั่นและอื่นๆ การจัดทำนโยบาย แนวทางปฏิบัติ การสื่อสาร และกระบวนการป้องกัน/ควบคุม หลายๆ อย่างก็ใช้ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดช่องทางแจ้งเบาะแส (Whistle-blowing) ก็ใช้รายงานได้ทั้งกรณีการทุจริตและคอร์รัปชั่น เช่น การให้สินบน รับสินบน การยักยอกเงิน การให้ของขวัญ เลี้ยงรับรอง เงินสนับสนุน ซึ่งวิธีการควบคุมก็ไม่ต่างจากค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จ่ายไปเพื่อการทุจริตเช่นกัน

แต่พอองค์กรจัดให้มีดำเนินการประเมินความเสี่ยงเรื่องการทุจริตและคอร์รัปชั่น ก็มักจะเผลอไปให้น้ำหนักแต่เรื่องทุจริตด้านการเงินและทรัพย์สินและด้านบัญชี เพราะความเสี่ยงในรูปแบบคอร์รัปชั่นอาจจะได้ค่าระดับความเสี่ยงที่ต่ำมาก จนไม่อยู่ในชั้นสำคัญเมื่อจัดเรียงลำดับความเสี่ยง ตรงจุดนี้จึงต้องควรแยกเรื่องประเมินความเสี่ยงในรูปแบบการคอร์รัปชั่นออกมาเป็นหัวข้อเฉพาะต่างหาก เพื่อจะได้มีหลักฐานประกอบให้คณะกรรมการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) พิจารณาว่าได้มีการประเมินแล้ว และให้การรับรอง (Certify) ตามกระบวนการต่อไป

 

ประโยชน์ของบริษัทที่จะได้จากการเข้าร่วมโครงการ

1. ป้องกันและควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงและบทลงโทษตามกฎหมายต่างๆ

2. ส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาในภาคธุรกิจของไทย

3. ผสานความซื่อสัตย์เข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรและแสดงออกผ่านผลการทำงาน

4. เพิ่มความน่าเชื่อถือในเรื่องความซื่อสัตย์ให้แก่บริษัท

5. สร้างพื้นที่การแข่งขันธุรกิจที่เป็นธรรมในภาคอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทใช้ความสามารถในการแข่งขัน

6. ดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้อยู่กับองค์กรต่อไป

7. ดึงดูดนักลงทุนและรักษาเงินลงทุนในบริษัทระยะยาว

 

เรื่องโดย : คุณศักดิ์ศรี อำพวัน ที่ปรึกษาและนักวิชาชีพตรวจสอบอาวุโส บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด