ข่าวสาร

| วันศุกร์, 22 กันยายน 2560 |

ปัญหาของการตรวจสอบภายในในประเทศไทย

บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ยึดถือกฎเกณฑ์และรูปแบบเป็นบรรทัดฐานแทนการมุ่งสร้างแก่นสาระและจิตวิญญาณของการนำเอาวิถีแห่งบรรษัทภิบาลมาใช้ กฎหมายและกฎเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน แต่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลง และมิติแห่งการมุ่งสร้างความรุ่งเรือง

 

ปัญหาของการตรวจสอบภายในในประเทศไทย

 

1. ปัญหาโครงสร้างหลัก

1.1 บรรษัทภิบาล (Corporate Governance) ยึดถือกฎเกณฑ์และรูปแบบเป็นบรรทัดฐานแทนการมุ่งสร้างแก่นสาระและจิตวิญญาณของการนำเอาวิถีแห่งบรรษัทภิบาลมาใช้ กฎหมายและกฎเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน แต่ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองการเปลี่ยนแปลง และมิติแห่งการมุ่งสร้างความรุ่งเรือง
1.2 ระบบควบคุมภายใน (Internal Control System) ที่ใช้อยู่ล้าสมัย แคบทั้งรูปแบบและความเชื่อ โดยเน้นหนักเฉพาะส่วนย่อยของกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการควบคุม โดยลืมหรือละเลยส่วนที่เป็น “คุณสมบัติ” และ “ความเชื่อ” ของฝ่ายบริหารกับผู้ตรวจสอบและพนักงานที่เหลือ โดยขาดผู้เป็น “เจ้าภาพ” ที่แท้จริง การตรวจสอบภายในเป็น องค์ประกอบที่ 5 ของกระบวนการควบคุมภายใน
1.3 ควบคุมและตรวจสอบโดยใช้อำนาจกฎหมาย หน่วยงานของทางราชการจะเน้นที่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (Compliance) ซึ่งจำเป็นแต่ได้ผลน้อยในการสร้าง “คุณภาพ” “คุณค่า” ที่เกิดจากการตรวจสอบ นอกจากนั้นยังเป็นการเน้น “อดีต” มากกว่า “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”

 

2. ปัญหาความเชื่อและทัศนคติ

2.1 ความเชื่อของสังคมโดยรวม ยังคงมีทัศนคติเกี่ยวกับการตรวจสอบทุกประเภทคือ “การจับผิด” และต่างก็ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ตรวจกับผู้รับการตรวจ
2.2 ความเชื่อของฝ่ายบริหาร ตรวจสอบเป็น “สิ่งที่ต้องมีตามกฎหมายหรือข้อบังคับ” “สร้างความแตกแยก” “คอยจับผิดมากกว่าจับถูก” “สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย” ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นทัศนคติในเชิงที่ไม่อยากมีการตรวจสอบ จนบางครั้ง มีการพูดว่าการตรวจสอบเป็น “ปีศาจที่จำเป็นต้องมี”
2.3 ความเชื่อของผู้ตรวจสอบภายใน ผู้ตรวจสอบภายในส่วนน้อยที่เชื่อว่าการตรวจสอบภายในสามารถ “สร้างคุณค่าเพิ่มแก่องค์กรโดยการเป็นหุ้นส่วนหรือที่ปรึกษาแก่ฝ่ายจัดการ” ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการตรวจในประเด็นจุกจิกหรือเน้นการทดสอบรายการ ดังเช่นที่ผู้สอบบัญชีปฏิบัติกัน แต่เงื่อนไข ปัจจัย และวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบทั้ง 2 กลุ่ม ยังมีความแตกต่างกันเกือบสิ้นเชิง

 

3. ปัญหาเรื่ององค์ความรู้และประสบการณ์

3.1 องค์ความรู้ ไม่มีการวิจัยในประเทศไทยถึงองค์ความรู้ที่เหมาะสม ดังนั้นองค์ความรู้และประสบการณ์สะสมมีลักษณะเด่นคือ การมองย้อนหลัง ทัศนคติเชิงลบ และมองเป็นจุด ๆ ไม่มีการมองภาพรวมและองค์รวม
3.2 การฝึกอบรม การฝึกอบรมน้อยมากในทุกระดับ อาทิมาตรฐานการฝึกอบรมขององค์กรชั้นนำประมาณ 40 ชั่วโมง/คน/ปี
3.3 เป้าหมายการปฏิบัติงาน เน้นการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ จึงทำให้ยากที่จะปรับตัวมาเป็นผู้เป็นหุ้นส่วนในการสร้างข้อมูลเพิ่ม

 

4. ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการตรวจ

4.1 การตรวจใช้เวลานานเกินไป กระบวนการตรวจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เกิดความรวดเร็ว “กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้”
4.2 ตรวจจุดเล็กละเลยระบบ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก แต่ผลที่ได้น้อย เข้าข่าย “ขี่ช้างจับตั๊กแตน
4.3 ค่าใช้จ่ายเดินทาง เป็นค่าใช้จ่ายที่มีนัยสำคัญดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายเดินทางได้กว่า 60% ของที่เคยใช้ แต่มิใช่การแยกผู้ตรวจสอบภายในไปอยู่ตามหน่วยงานที่กระจาย เพราะจะทำให้ลดการใช้จ่ายทางตรงแต่ไม่ได้ผลงานเท่าที่ควรจะเป็น

 

ที่มา : สมาคมผู้ตรวจสอบภายในแห่งประเทศไทย

 

++++++++++++++