ข่าวสาร

| วันพฤหัสบดี, 09 มีนาคม 2560 |

"ทุจริตจัดซื้อ" ปัญหาใหญ่ธุรกิจไทยปี 60

การทุจริตจากการจัดซื้อ-จัดจ้าง เป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกินประเทศไทยมานานหลายปีที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ไขได้ โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศเชื่อว่าจะยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกในปีนี้

ผลสำรวจของบริษัทพีดับเบิลยูซี คอนซัลติ้ง ประเทศไทย พบว่า การทุจริตจัดซื้อจะกลายเป็นภัยที่คุกคามธุรกิจไทยในปี 2560 โดยภาคธุรกิจกว่า 90% เชื่อปีนี้ มีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อภายในองค์กรของตัวเอง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากคนในร่วมมือกับคู่ค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดการฮั้วในขั้นตอนการเลือกผู้ค้า

 

จากการสำรวจผู้เข้าร่วมงานสัมมนา “พีดับเบิลยูซี ฟอเรนซิคส์ ซัมมิท” กว่า 400 รายพบว่า ผู้ถูกสำรวจมากถึง 93% ระบุว่า มีโอกาสเกิดการทุจริตจัดซื้อ กับธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยในช่วงปี 2560-2561 ซึ่งการทุจริตจัดซื้อนี้ถือเป็นปัญหาและภัยร้ายแรงที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก

 

สอดคล้องกับผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจประจำปี 2559 ของพีดับเบิลยูซี ประเทศไทย ซึ่งทำการสำรวจองค์กรและภาคธุรกิจหลายประเภท ประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในประเทศพบว่า การทุจริตจัดซื้อจะเป็นปัญหาการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของไทยในปีนี้ รองจากการยักยอกสินทรัพย์ และการรับสินบนและคอร์รัปชัน ในอันดับที่ 3

 

รายงานของพีดับเบิลยูซีชี้ว่า ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ล้วนเกิดขึ้นจากพนักงานภายในองค์กร ซึ่งทำให้ยากต่อการตรวจสอบการทุจริต โดยผลสำรวจในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ถูกสำรวจเกือบ 80% ยอมรับว่า การกระทำทุจริตส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากคนใน รวมถึงปัญหาการทุจริตจัดซื้อด้วย

 

สาเหตุของการทุจริตจัดซื้อที่พบส่วนใหญ่ เกิดจากการที่พนักงานสมรู้ร่วมคิดกับคู่ค้า และบ่อยครั้งก็มีการฮั้วในขั้นตอนการเลือกผู้ค้า จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่องค์กรต่างๆ จะต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติพื้นฐาน ของพนักงานและคู่ค้า และควรครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบุคคลที่สามที่เป็นผู้ค้าของบริษัทในปัจจุบัน หรือที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เป็นผู้ค้าด้วย

 

การทุจริตที่เกิดจากบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นผู้ค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของบริษัท อาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง เนื่องมาจากความเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน โดยผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี พบว่า 75% ของเหตุการณ์คอร์รัปชันจำนวน 427 เหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ปี 2542 ล้วนเกี่ยวข้องกับการชำระเงินที่ไม่เหมาะสม ผ่านตัวกลางซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

 

ในส่วนของประเทศไทย พีดับเบิลยูซีแนะว่า ทุกฝ่ายยังคงต้องร่วมมือกันในการป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศ หลังจากผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี 2559 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนมกราคมระบุว่า ไทยตกมาอยู่ที่อันดับ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ ซึ่งถือเป็นลำดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 2556 ซึ่งเวลานั้นไทยอยู่ในอันดับที่ 102

 

ผลสำรวจล่าสุดของพีดับเบิลยูซี รวมถึงดัชนีความโปร่งใสขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ถือเป็นการตอกย้ำวิกฤตการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างและฝังรากลึกในสังคม หากทุกฝ่ายยังไม่เร่งแก้ไข ประเทศไทยก็อาจต้อง “ติดหล่มทุจริต” แบบนี้ไปอีกนานหลายปี ซึ่งถือเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : Now26

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on วันพฤหัสบดี, 23 สิงหาคม 2561