โครงสร้างเงินเดือนคืออะไร?
โครงสร้างเงินเดือน คือ การกำหนดอัตราค่าจ้างหรือเงินเดือนสำหรับการว่าจ้างบุคคลในตำแหน่งงานต่าง ๆ อย่างชัดเจนว่า องค์การจะตกลงที่จะจ่ายให้ต่ำสุดที่อัตราใด และสูงสุดไม่เกินจำนวนเท่าใด ตลอดจนระเบียบวิธีการปรับเงินเดือน โดยมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานมาพิจารณา ซึ่งในกระบวนการนี้เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจค่าตอบแทนและการประเมินค่างานมาพิจารณาจัดทำโครงสร้างค่าจ้างและเงินเดือน
โครงสร้างเงินเดือนสำคัญอย่างไร?
โครงสร้างเงินเดือนเป็นเครื่องมือที่ช่วยฝ่ายบริหารในการควบคุมการจ่ายค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมกับงาน เกิดความยุติธรรมภายในองค์กร สามารถจูงใจให้พนักงานปฏิบัติงานอย่างเต็มความรู้ ความสามารถ และสามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรนานๆ และขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมต้นทุนด้านแรงงาน อีกทั้งยังสามารถคาดการณณ์ต้นทุนแรงงานในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังทำให้องค์กรสามารถแข่งขัน ด้านการจ่ายค่าตอบแทนกับองค์กรอื่นๆ ในตลาดแรงงานเดียวกันได้
ประโยชน์ของการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนสำหรับองค์กร มีอะไรบ้าง?
1. องค์กรจะมีโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจน ที่สามารถตอบคําถามข้อสงสัยจากพนักงานในองค์กรได้อย่างมีหลักการและเหตุผล รวมทั้งจะทำให้องค์กรสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้เป็นอย่างดี
2. องค์กรจะมีเครื่องมือพิจารณาทบทวนค่าของงานในตำแหน่งต่าง ๆ อย่างมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และนํามาปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้ตลอดเวลา ทำให้แข่งขันกับตลาดได้อยู่เสมอ
3. มีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจนดึงดูดคนดีมีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้
4. องค์กรจะมีข้อมูลการจ่ายค่าตอบแทนเพื่อใช้ในการเจรจากับพนักงาน สหภาพแรงงาน และสามารถจะชี้ให้เห็นถึงนโยบายการจ่าย ตลอดจนหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีหลักการและเหตุผล
5. ลดข้อร้องทุกข์ที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรมของพนักงานลง เพราะทุกคนในองค์กรจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารเพียงอย่างเดียว
6. ใช้เป็นพื้นฐานในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรบุคคลด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาสายความก้าวหน้าในงาน, การวางระบบการประเมินผลการปฏิบัติงาน, การจัดทำเส้นทางการฝึกอบรมระยะยาว (Training Roadmap) สำหรับพนักงาน เป็นต้น
ประโยชน์ของการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนสำหรับพนักงาน มีอะไรบ้าง?
1. ทำให้พนักงานลดความรู้สึกว่าองค์กรจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรมลง
2. เมื่อพนักงานเข้าใจระบบและหลักการประเมินค่างานแล้วก็จะเกิดการยอมรับและเห็นความก้าวหน้าของตัวเองในองค์กร
3. เกิดการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเสมอภาคบนหลักการเดียวกันทำให้เกิดการยอมรับและลดความขัดแย้งในองค์กร ทำให้ป้องกันหรือลดความลำเอียงของฝ่ายบริหาร
4. นํามาเป็นข้อมูลเพื่อจัดการวางแผนการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับพนักงานที่เป็นดาวเด่น (Talent) โดยเฉพาะได้อย่างมีเหตุผลทั้งด้านของค่างาน และนโยบายขององค์กร
5. ทั้งองค์กรและพนักงานจะมีข้อมูลที่ชัดเจนในการเจรจากันเรื่องค่างาน และค่าตอบแทน
6. ธํารงรักษาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถให้ยังคงอยู่กับองค์กรด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน ลักษณสำคัญของการประเมินค่างาน
หากองค์กรไม่มีโครงสร้างเงินเดือนอย่างเป็นระบบ อาจจะยากในการที่จะบริหารเงินเดือนให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด ดังนั้นการมีโครงสร้างเงินเดือน และการกำหนดวิธีการบริหารเงินเดือนย่างเป็นระบบนั้น จะมีส่วนช่วยให้การจ่ายเงินเดือนมีความเป็นธรรมมากขึ้น ลูกจ้างรู้สึกมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น ส่วนนายจ้างเองก็สามารถรักษาระดับการจ่ายให้แข่งขันได้กับตลาด เพื่อที่จะสามารถหาคนเก่งเข้ามาทำงาน รวมทั้งยังสามารถที่จะรักษาบุคลากรให้ทำงานกับบริษัทต่อไปได้
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ทราบว่าการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนเป็นกระบวนการที่สำคัญ และต้องกระทำอย่างรอบคอบ และใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์งาน การประเมินค่างาน และการสำรวจค่าตอบแทนมาพิจารณาร่วมกับปัจจัยต่าง ๆ เพื่อที่จะให้ได้โครงสร้างเงินเดือนที่มีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ได้จริง
ผู้เขียน :
ณิฐชมนต์ พิชาโอฬารโรจน์ หัวหน้าแผนก ฝ่ายพัฒนาระบบ
ดร.เพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่าย ฝ่ายพัฒนาระบบ