การเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันล้วนแล้วแต่สร้างผลกระทบกับองค์กรได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากองค์กรใดมีแผนพร้อมรับปรับตัวตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีก็ทำให้สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสและอยู่รอดได้ แต่สำหรับองค์กรที่ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ ผลที่ได้อาจตามมาซึ่งความเสียหายรอบด้านที่ยากจะจัดการภายหลัง ดังนั้นจึงทำให้ปัจจุบันแผนงานด้าน การบริหารความเสี่ยง กลายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่องค์กรยุคใหม่ต่างหันมาจัดทำ และให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าแผนการบริหารงานด้านอื่นๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด
ก่อนเข้าถึงเรื่องของ การบริหารความเสี่ยง เรามาทำความรู้จักกับความเสี่ยงก่อนว่า มีอะไรบ้างที่เข้าข่ายของความเสี่ยงที่สามารถเกิดขึ้นได้กับองค์กร
ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งมีผลกระทบกับภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ทรัพย์สิน และเป้าหมายขององค์กร โดยปัจจัยภายนอก ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย สิ่งแวดล้อม ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ระบบการทำงาน และประสบการณ์ความสามารถของพนักงานภายในองค์กร
ลักษณะของความเสี่ยง แยกเป็น 3 แบบคือ
• ความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นแน่นอนเป็นประจำ สามารถคาดเดาลักษณะการเกิดได้
• ความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้เกิดเป็นประจำและไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร
• ความเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดมาก่อนเลย แต่หากเกิดขึ้นอาจสร้างความเสียหายตามมา
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาและความเสียหายที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ องค์กรจึงควรมีแผนบริหารความเสี่ยงไว้อย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยสามารถสรุปเป็นรายละเอียดและแนวทางต่างๆ ได้ดังนี้
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
เป็นกระบวนการบริหารจัดการเพื่อกำหนดนโยบาย โครงสร้างต่างๆ เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรนำไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการงานต่างๆ เพื่อไม่ให้มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง ผลกระทบ และความเสียหายต่างๆ หรือลดความเสียหายให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
การบริหารความเสี่ยง ขององค์กรควรมีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานต่างๆ ในภาพรวมทั้งหมด และครอบคลุมความเสี่ยงของทั่วทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ การดำเนินงาน การเงิน และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือคำสั่งต่างๆ และเพื่อให้ การบริหารความเสี่ยง บรรลุผล คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน จึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อให้มองเห็นความเสี่ยงในทิศทางเดียวกัน และกำหนดกลยุทธ์ วางแผนจัดการ ป้องกันได้อย่างตรงจุด
ตัวอย่างการบริหารความเสี่ยง เช่น ในสถานการณ์โควิด-19 ที่องค์กรควรมีแผนรับมือเพื่อดำเนินการแก้ไข ป้องกัน รวมถึงแผนฉุกเฉินต่างๆ โดยความเสี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าวคือผู้คนติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น สร้างผลกระทบให้องค์กรกรณีที่มีพนักงานติดและไม่มีกำลังคนในการดำเนินงาน
ดังนั้นองค์กรควรกำหนดแผนงานที่ต้องใช้จัดการความเสี่ยง เช่น การกำหนดการทำงานแบบ Social Distancing เว้นระยะห่างระหว่างกัน การปรับระยะห่างโต๊ะทำงาน การจัดการเรื่องระบบระบายอากาศให้ถ่ายเทสะดวก การจัดประชุม อบรมสัมมนา และอนุมัติเอกสารเป็นแบบออนไลน์ ใช้วิธีแชร์ไฟล์หรือส่งอีเมลเพื่อลดการส่งต่อเอกสารต่างๆ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่ส่วนกลาง หรือจุดสัมผัสร่วม
รวมทั้งควรแบ่งให้แต่ละหน่วยงานวิเคราะห์ความเสี่ยง ผลกระทบ รวมถึงแผนรับมือความเสี่ยง เช่น
• ฝ่ายจัดซื้อ ควรมีมาตรการเกี่ยวกับการติดต่อหรือพบเจอ supplier ภายนอก หรือกำหนดวิธีการรับ-ส่งของให้ปลอดภัย
• ฝ่ายบุคคล ควรให้ความสำคัญกับวิธีการดูแลคนเข้าออกในองค์กร การใช้เครื่องมือในการลงเวลาเข้าออกงานที่เลี่ยงการสัมผัสร่วม การกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกคนใหม่ที่จะเข้ามาทำงานแบบปลอดเชื้อ รวมถึงมีการวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อองค์กรต้อง Work from Home
• ฝ่ายขาย วางแผนการดูแลตัวเองทั้งก่อนและหลังจากไปพบเจอลูกค้าภายนอก รูปแบบการเดินทาง การประชุมกับลูกค้าแบบเว้นระยะห่างหรือแบบออนไลน์ รวมถึงการจัดทำตารางการเดินทางไปพบลูกค้าตามจุดต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน เพื่อประเมินความเสี่ยงจากจุดต่างๆ
• ฝ่ายบัญชี ควรมีการวางแผนการใช้เงินทุนภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ และมองหาแผนสำรองสำหรับแหล่งเงินทุนที่จะช่วยให้เกิดสภาพคล่องภายในองค์กรในระยะยาว
ประโยชน์ของการวางแผนการบริหารความเสี่ยง
• เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการกับความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล และเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
• ทำให้องค์กรมีกรอบดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน และจัดการความเสี่ยงต่างๆ ในระยะยาวได้
• องค์กรมีแนวทางที่สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างทันสถานการณ์
• ช่วยลดความรุนแรงของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากความเสี่ยงรูปแบบต่างๆ
• สร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความมั่นคงและศักยภาพขององค์กรต่อภายนอก
เพื่อให้องค์กรสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างทันสถานการณ์ การจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรควรเร่งจัดทำ เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสียหายจากความเสี่ยงมากที่สุดแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มโอกาสจากวิกฤติให้กับองค์กรได้อีกด้วย
เรียบเรียงโดย : นายเพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด