นักธุรกิจหลายท่าน เมื่อดำเนินธุรกิจมาได้สักระยะและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีความประสงค์ที่จะขยายธุรกิจให้สามารถดำเนินได้อย่างมั่งคั่ง และยั่งยืน แต่อย่างไรก็ดี การจะขยายธุรกิจนั้นย่อมใช้ทรัพยากรในการลงทุนที่สูงขึ้น เพื่อแลกกับโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินลงทุน บุคลากร ระบบงานและเทคโนโลยี จึงเป็นเหตุผลที่นักธุรกิจหลายท่าน มีความสนใจจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเกี่ยวข้องกับการเตรียมการต่างๆ ซึ่งในที่นี้เราจะพาคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจ องค์ประกอบสำคัญอันดับต้นๆ ที่ทำให้การเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้นสำเร็จลุล่วงด้วยดี
ทำไมหลายบริษัทจึงสนใจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย?
การที่เจ้าของธุรกิจสนใจเรื่องของการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ก็เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถระดมเงินทุนจากประชาชนทั่วไปได้โดยตรง และนำเงินระดมทุนไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจของบริษัทได้โดยไม่มีภาระที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามงวดเวลาที่กำหนดเหมือนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการบริหารเงินมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในเรื่องของชื่อเสียง และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัท เนื่องจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องผ่านกลไกการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยเสริมความน่าเชื่อถือให้แก่ลูกค้า คู่ค้าทั้งชาวไทย และต่างประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ดีการเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น มีขั้นตอน และกระบวนการที่พึงปฏิบัติ โดยทั้งบริษัทเอง และหน่วยงานภายนอกที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อม และนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งส่วนที่บริษัทพึงมีในการเตรียมความพร้อม คือ การจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจ
การจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจ คืออะไร?
การจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจ คือ การจัดทำคู่มือที่แสดงถึงกระบวนการของบริษัทในการดำเนินธุรกิจ และแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่ช่วยให้นักลงทุนมั่นใจว่า บริษัทมีวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างไรที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และหากบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยง หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน บริษัทมีแผนในการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร และการดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้โดยไม่หยุดชะงัก
องค์ประกอบที่ควรมีในคู่มือพัฒนาธุรกิจ
1. โครงสร้างองค์กร ที่มีความเหมาะสม และสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว โดยไม่ขัดต่อหลักการควบคุมภายใน
2. วิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์ ที่มีความสอดคล้องกัน และกลยุทธ์สามารถทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้
3. ตารางอำนาจอนุมัติ ที่แสดงถึงอำนาจในการอนุมัติ การตัดสินใจในการกระทำรายการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ ที่มีการกระจายอำนาจอย่างเหมาะสม สะดวกในการดำเนิน ธุรกิจและเป็นไปตามหลักการควบคุมภายในที่ดี
4. คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจ และคู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
5. คู่มือการบริหารความเสี่ยง ที่แสดงถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท และแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ช่วยให้ความเสี่ยงนั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
6. แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ เป็นแผนที่ใช้รองรับกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่อบริษัท เพื่อป้องกันไม่ให้การดำเนินงานหยุดชะงัก
7. แผนสืบทอดตำแหน่ง แสดงให้เห็นถึงการคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีความพร้อม ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ และบริหารงานของบริษัท หากผู้บริหารรายเดิมไม่สามารถ บริหารงานได้กะทันหัน
8. แผนธุรกิจ ที่แสดงให้เห็นถึงการวางกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ
9. โครงสร้างเงินเดือน ที่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อทั้งพนักงาน และบริษัท
10. Job description ที่แสดงถึงหน้าที่งานของพนักงานในบริษัท และ KPI องค์กรและหน่วยงานที่ใช้ในการชี้วัดความสำเร็จของงาน
คู่มือพัฒนาธุรกิจมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งบริษัทสามารถใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ภายใต้หลักการควบคุมภายในที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การจัดทำคู่มือเหล่านี้ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจทั้งในธุรกิจ และหลักการควบคุมภายในที่ดี ซึ่งบริษัทสามารถใช้บริการจัดทำคู่มือพัฒนาธุรกิจจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อเตรียมความพร้อม และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เรียบเรียงโดย คุณณิฐชมนต์ พิชาโอฬารโรจน์ หัวหน้าแผนกพัฒนาระบบ บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด