“ฮันนี่เวลล์” เผยภัยคุกคามไซเบอร์ เริ่มหันโจมตีโครงสร้างพื้นฐาน แนะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องลงทุนป้องกันการโจมตีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไทยกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้การควบคุม 3 ส่วน คือ บุคลากร ระบบการทำงาน และเทคโนโลยีที่ใช้งาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
ซัฟดาร์ อัคทาร์ ผู้อำนวยการการพัฒนาธุรกิจความปลอดภัยบนไซเบอร์ ภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก บริษัท ฮันนี่เวลล์ โพรเซส โซลูชั่นส์ จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า จะมีการมุ่งเป้าโจมตีไปที่กลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
“จากเดิมภัยคุกคามไซเบอร์ส่วนใหญ่จะมุ่งเจาะถึงข้อมูลเพื่อนำมาขายสร้างรายได้ แต่แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คือ การโจมตีทางไซเบอร์จะกลายเป็นภัยคุกคามที่เน้นโจมตีโครงสร้างพื้นฐานจากระบบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจพลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้ต้องมีการวางแนวทางในการป้องกัน และบริหารจัดการได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการโจมตี”
ประเทศไทย ถือเป็น 1 ในยุทธศาสตร์สำคัญของการโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่แนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งผลให้อุปกรณ์ที่ใช้งานส่วนใหญ่ยังมีช่องโหว่ให้โจมตี ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงควรตระหนึกถึงภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้น และร่วมมือกับทั้งหน่วยงานภาครัฐอย่าง ThaiCERT และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบป้องกันภัยคุกคาม
“การที่ระบบไอทีปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานต่างๆ ทำให้การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความสำคัญที่จะเข้าไปช่วยป้องกันไม่ให้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวโดนโจมตี และกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเดินหน้าตามแนวทางเศรษฐกิจดิจิทัล”
ที่ผ่านมา ฮันนี่เวลล์ ถือเป็นบริษัทที่ให้บริการโซลูชันในภาคอุตสาหกรรม และเริ่มมีการลงทุนในการสร้างระบบป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน จนกลายเป็นบริษัทผู้นำทางด้านไอที ซิเคียวริตีในภาคอุตสาหกรรม จากการที่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลกภายใต้ศูนย์วิจัยของฮันนี่เวลล์ และมีการทำงานร่วมกับเวนเดอร์ที่หลากหลาย
ในแง่ของความปลอดภัยไซเบอร์ในภาคอุตสาหกรรม ทางผู้บริหารฮันนี่เวลล์ ระบุว่า จะมีองค์ประกอบหลักด้วยกัน 3 ส่วน คือ เรื่องของบุคลากร ระบบการทำงาน และระบบเทคโนโลยีที่ใช้งาน ซึ่งเมื่อคนนำเทคโนโลยีมาช่วยในการย่นระยะเวลาของระบบการทำงาน อาจจะทำให้เกิดช่องโหว่ ส่งผลให้เกิดการโจมตีจากภายใน และภายนอกก็ได้
สิ่งที่ฮันนี่เวลล์ ทำคือ การวางโซลูชันความปลอดภัยไซเบอร์ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการทำระบบประเมิน และตรวจสอบในส่วนของระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อทำรายงาน พร้อมทั้งการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่อุตสาหกรรม รวมถึงการสร้างความปลอดภัยทางด้านเครือข่ายให้มั่นใจว่า จะมีการป้องกันที่สมบูรณ์แบบ จนถึงการสำรองระบบให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
โดยมีการนำโปรแกรมอย่าง Risk Manager เข้าไปประเมินเครือข่ายภายในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบว่าระบบรักษาความปลอดภัยที่มีเพียงพอหรือไม่ พร้อมนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงาน ก๊าซ น้ำมัน ไฟฟ้า รวมถึงพลังงานน้ำ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถหยุดทำงานได้
ปัจจุบัน ฮันนี่เวลล์ เข้าไปดูแลระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมัน 2 บริษัท และอุตสาหกรรมพลังงาน 3 บริษัท รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่แต่เดิมใช้ระบบของฮันนี่เวลล์ ก็อยู่ในช่วงพูดคุย เพื่อลงทุนทางด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งแต่ละองค์กรมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพิ่มเติม
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : Manager Online
หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่
เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง