News

| Thursday, 12 January 2017 |

แนวโน้มการบริหารบุคคลปี 60

ข้อมูลที่จะให้ในบทความนี้ ปกติจะให้ก่อนสิ้นปีแต่ให้มีเหตุอื่นมาแทรกซ้อน ทว่าคงยังไม่สายเกินไปที่จะรับทราบ นั่นคือจะบอกว่า การเปลี่ยนแปลงจะมีอะไรบ้าง

1. ค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากแช่แข็งไป 3 ปี มีประกาศเป็นทางการลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับ กทม. และปริมณฑล จะเพิ่มเป็น 310 บาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ลดหลั่นลงไป และมีบางจังหวัดไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้น องค์กรไหนใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเริ่มต้น แปลว่าต้องจ่ายเดือนละ 9,300 บาท (สำหรับ กทม. และปริมณฑล)

 

2. การขึ้นค่าจ้างประจำปี จากการสำรวจหลายแหล่งที่มีการทำการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ พอสรุปได้ว่า อัตราขึ้นเฉลี่ยในตลาดสำหรับธุรกิจทั้งหลายจะอยู่ที่ประมาณ 5- 7% นี่บอกเป็นตัวเลขกลมๆ นะคะ เพราะส่วนใหญ่จะออกมามีจุดทศนิยมค่ะ

 

3. การจ่ายเงินรางวัลประจำปี ที่เราเรียกโดยทั่วไปว่า “โบนัส” ซึ่งมักมีสองแบบ คือ แบบพื้นฐาน กับ แบบตามระดับผลงานที่โดดเด่น (Committed Bonus & Performance Bonus) อัตราของตลาด โดยเฉลี่ยแบบพื้นฐานอยู่ที่ประมาณ 1.2 - 2.5 เท่าของเงินเดือน และแบบผลงานเด่นอาจจ่ายอีกต่างหาก แยกคนละเวลาหรืออาจรวมพร้อมกันก็ได้ จะมีอีกประมาณ 1 - 3 เดือน

 

4. อัตราการจ่ายเงินสมทบของกองทุนประกันสังคม แม้ขณะนี้ยังไม่เคาะขั้นสุดท้าย แต่เปลี่ยนแน่นอน ได้ทราบมาว่าจำนวนเงินที่ต้องจ่ายใหม่สูงสุดประมาณเดือนละ 1,000 บาท (เดิม 750 บาท) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถจ่ายคืนได้เพิ่มมากกว่าเดิม เป็นการเตรียมรับภาวะการเงินในระยะยาว

 

5. อัตราเงินสมทบสำหรับการไม่จ้างคนพิการ ความจริงเราๆ ท่านๆ ก็ทราบกันดีว่า การหาคนพิการมาทำงานในองค์การนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายองค์การต้องยอมเสียเงินสมทบเพราะไม่สามารถจ้างคนพิการได้ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด เคยเล่าให้ฟังว่า จะใช้วิธีให้จ้างคนพิการที่อยู่ในท้องถิ่นให้ทำงานเพื่อชุมชน แต่นายจ้างเอกชนจ่ายค่าจ้างให้แม้สถานประกอบการไม่ได้อยู่ในถิ่นนั้นก็ได้ คงมีผู้เลือกวิธีนี้หลายคน

 

6. การจ้างงานคนสูงอายุ สำหรับงานบางประเภท รัฐเริ่มสร้างกฎเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในสังคมผู้สูงอายุ แบ่งเบาให้ภาคเอกชนร่วมรับผิดชอบ น่าจะคล้ายๆ กับการจ้างงานคนพิการ เพราะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดภาระภาษีได้ สังคมผู้สูงอายุนั้นมาใกล้ตัวแล้ว มายืนเคาะหน้าประตูบ้าน แต่มาตรการยังไม่ชัดเจนนัก ต้องติดตามใกล้ชิด


ที่กล่าวมา 6 ข้อ เป็นแง่ปฏิบัติที่นักบริหารบุคคลต้องทำตาม แต่ในปีไก่นี้ยังมีประเด็นความท้าทายที่มืออาชีพทั้งหลายต้องพลิกตำราฝึกฝีมือมารับมืออีกหลายกระบวนท่า เรื่องที่คิดว่าสำคัญที่สุดจนถึงสำคัญน้อยที่สุด มีดังต่อไปนี้

1. การจ้างงาน หลายธุรกิจต่างมีปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย บางธุรกิจถึงกับล้มหายตายจากกันเลย น่ากังวลอย่างยิ่ง หลายอาชีพเกือบต้องเลิกทำไปเลย ที่ยังพอหาคนมาต่อสายป่านให้ก็จำต้องกลืนเลือดเก็บน้ำตาให้ไหลย้อนลงไปในอกแทน การเลิกจ้างลอยแพคนทำงานระดับปัญญาชนระดับมืออาชีพ มีข่าวไม่ขาดสาย แต่อีกหลายๆ ธุรกิจก็ยังเผชิญปัญหาตรงกันข้ามคือ หาคนทำงานไม่ได้ การขาดแคลนแรงงานจะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเยียวยาต่อไป มิฉะนั้นจะเดือดร้อนแน่นอน ประเด็นย่อยๆ ในเรื่องการจ้างงานที่มองข้ามไม่ได้คือ ผลกระทบที่เกิดจากผลพวงข้อนี้ มีหลายข้อ เช่น อัตราการลาออกจะสูง บางธุรกิจนั้นมีอัตราการลาออกสูงถึง 20% ซ้ำยังหาคนมาทดแทนยาก ต้องมีการวางแผนอัตรากำลังกันถี่กว่าเดิม ทบทวนบ่อยเพื่อหาจำนวนที่เหมาะสม เทคโนโลยีอาจช่วยได้แต่ก็เป็นตัวดึงให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มในช่วงต้นแต่ระยะยาวคงดี ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นแบบเป็นระลอก เพิ่มแบบนิ่มๆ ภาครัฐกล่าวอย่างสบายใจว่า แม้จะมีอัตราเพิ่มขึ้นแต่ไม่น่าห่วง นักบริหารบุคคลมืออาชีพอย่าเชื่อง่ายๆ นะคะ เพราะขยะใต้พรมมีมหาศาล นั่นคือ คนที่ไม่เคยเข้าในระบบการจ้างงานจะไม่ถูกนับอยู่ในนี้ เอาแค่บัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ก็ไม่มีงานทำกว่าสามแสนคนแล้วค่ะ แต่งานสรรหาว่าจ้างยังยิ้มไม่ออก เพราะเขาเลือกงาน เขาเลือกเงิน เขามีความรู้ทักษะที่ไม่เหมาะสมกับงาน ตำแหน่งงานว่างมีมาก แต่หาคนสมัครหรือหาคนที่เหมาะสมกับงานไม่ได้ เช่น งานขาย งานบริการ ซึ่งความจริงงานที่กล่าวนี้ เป็นงานที่ตลาดมีความต้องการสูง มีคุณค่าในตัวเอง สร้างรายได้ให้อย่างน่าพอใจ แต่ทัศนคติของคนไม่ยอมรับ รู้สึกต่ำต้อยดูถูก จึงขอเตือนว่า งานสรรหาว่าจ้างนี่แหละ จะเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่นักบริหารบุคคลจะต้องเผชิญ

 

2. การบริหารผลงาน (Performance Management) จะขยับอันดับขึ้นมา เพราะหากองค์การต้องการเก็บคน ต้องมีเครื่องมือนี้มาใช้และต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในอนาคตของบุคลากรว่าเขามีโอกาสเติบโตต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ขอย้ำว่ากระบวนการนี้ใหญ่และกว้างกว่าการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Appraisal) ศึกษากระบวนการของการบริหารผลงานให้ลึกซึ้ง คิดประยุกต์ให้เหมาะสมกับองค์การ บุคลากรองค์การใหญ่ๆ อาจต้องเลือกทำเฉพาะ Key Position, Hard Recruit Position, Top Performer เป็นต้น แต่มีการวางเส้นทางสายอาชีพให้ชัดเจน จัดแบ่งกลุ่มบริหาร ชำนาญการ เทคนิเชียนให้ชัดเจน มีสถานะเท่าเทียมกัน จะช่วยสร้าง Engagementได้ดี อัตราการลาออกจะลดลง คุณภาพประสิทธิภาพจะเพิ่มอย่างแน่นอน และปัญหาตามข้อหนึ่งก็จะคลี่คลายไปด้วย

 

3. การบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ ตามมาติดๆ เป็นอันดับสาม ความจริงเรื่องค่าตอบแทนก็ต้องเพิ่มต้องให้อยู่แล้ว อย่างน้อยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็เป็นตัวบังคับ แต่ที่จะต้องจับตาเป็นพิเศษคือสวัสดิการ ซึ่งละเอียดอ่อนมาก แม้หลักกฎหมายจะบอกว่า ให้แล้วลดไม่ได้ เลิกไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของหลักการ แต่วิธีการคือตัววัดฝีมือนักบริหารบุคคลค่ะ การหาสิ่งแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น การปรับให้ตรงความต้องการที่แท้จริง เป็นปัจจัยที่เอื้อให้มีความเป็นไปได้ เพราะคนทำงานย่อมต้องการความมั่นคงในระยะยาว ยิ่งหากเน้นถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ความมั่นคงภายหลังเกษียณ จะยิ่งได้รับการตอบรับที่ดี ฉะนั้น นักบริหารบุคคลมืออาชีพต้องใคร่ครวญวิเคราะห์ให้ลึกซึ้ง ทั้งชนิดของสวัสดิการ จำนวน โอกาสในการเข้าถึง ระยะเวลา ลองติดตามนโยบายของรัฐในเรื่องเหล่านี้ การจะบังคับออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ แล้วนำกลับมาเสริมสร้างกับแผนที่เป็นอยู่ แล้วเติมเต็มตัดทอนปรับแต่งให้เหมาะสม รับรองว่าองค์การจะได้ความผูกพันจากพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

4. การอบรมและพัฒนา หลายคนคงสงสัยว่า ข้อนี้มันจะเป็นปัญหาอะไร ก็ทำอยู่ไม่ขาดมือ ก็ตรงนี้แหละค่ะ หากทำมากแล้วพิสูจน์ผลไม่ได้ชัดเจน มืออาจจะขาดได้ค่ะ คืออย่างนี้ค่ะ เรามักจัดอบรมเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รูปแบบยังเป็นแบบเดิมๆ เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เคยเล่าให้ฟังนานแล้วว่า แนวทางการอบรมพัฒนานั้น ขอให้ศึกษาแนวทาง รูปแบบใหม่ๆ สูตร 70, 20,10 นั้นความหมายต่างจากของเดิม คือ 70 ให้เป็นแบบ Self- study การค้นหาไขว่คว้าด้วยตนเอง 20 ให้เป็นแบบ Coaching, Mentoring หรือ On the job training ส่วน 10 ที่เหลือคือแบบจัดหลักสูตร Classroom training ยังทำตามสูตรนี้ไม่ได้ก็ปรับลดปรับเพิ่มเอาเอง เห็นรูปแบบการอบรมพัฒนาแล้ว คงพอมองออกว่า ชนิดของหลักสูตรอะไรแบบไหนที่เหมาะกับแต่ละสูตรวิธีการ ฉะนั้น จากงาน routine กลายเป็นต้องนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้มากขึ้น

ในการทำงาน ปัญหาอุปสรรคย่อมมีเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ที่หยิบยกมากล่าวถึงเป็นพิเศษนั้น อาศัยจากการติดตามข่าวสารในแวดวงอาชีพ การติดตามสถานการณ์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ แรงงาน หรือแม้แต่การเมือง แล้วนำมาวิเคราะห์คาดการณ์ตามประสบการณ์ ไม่ได้เป็นหมอดูโหรต่องแต่ง คิดไปแล้วก็อยากเผยแพร่ให้เพื่อนร่วมอาชีพเตรียมเนื้อเตรียมตัวไว้บ้างเพื่อความไม่ประมาทเท่านั้นเอง บางส่วนจึงเป็นผลสำรวจ แต่บางส่วนเป็นการคาดการณ์ เพื่อนคนไหนจะมีวิจารณญาณแตกต่างไปก็ไม่มีฝ่ายใดผิด-ถูก แต่ถือเสียว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ย่อมดีกว่าเสมอ…

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018