ปตท.ส่งรายชื่อผู้รับผิดชอบบริหารและวิศวกรโครงการที่โรลส์-รอยซ์อ้างจ่ายค่านายหน้าส่วนเกินแลกงานให้ป.ป.ช. สอบเชิงลึกควานหาตัวผู้กระทำผิดรับสินบน
วันที่ 1 เม.ย.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3249 ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.2560 สื่อในเครือสปริง กรุ๊ป รายงานว่า ปตท.ส่งรายชื่อผู้รับผิดชอบบริหารและวิศวกรโครงการที่โรลส์-รอยซ์อ้างจ่ายค่านายหน้าส่วนเกินแลกงานให้ป.ป.ช. สอบเชิงลึกควานหาตัวผู้กระทำผิดรับสินบน เผยเอกสารประมูลด้วยวิธีพิเศษโรงแยกก๊าซ 5 และ 6 กำหนดสเปกเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์
ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.)โดยอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้ตรวจสอบรายละเอียดที่พนักงานบริษัทโรลส์-รอยซ์ฯ ไปให้การต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กรณีจ่ายค่านายหน้าส่วนเกินหรือเงินสินบนหลายครั้งเพื่อล็อกสเปกทางเทคนิคโครงการให้โรลส์-รอยซ์
กระทรวงยุติธรรม สหรัฐฯตรวจสอบกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ (RRESI) ที่เป็นบริษัทลูกของ RR ได้ติดสินบนผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท.ฯ และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ในช่วงปี 2543-2556 เพื่อให้ซื้อเครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์ มาใช้ใน 6 โครงการ
การจ่ายสินบนครั้งนี้ แลกกับการกำหนดรายละเอียดทางเทคนิค ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติเครื่องยนต์ที่จะนำไปติดตั้งในโครงการ โดยโรลส์-รอยซ์ ยอมจ่ายค่านายหน้าให้กับเจ้าหน้าที่ปตท. มากกว่าข้อกำหนดนโยบายของบริษัทที่กำหนดให้จ่ายค่านายหน้าได้ไม่เกิน 5% แต่การขายเครื่องยนต์ให้กับบริษัทปตท.ฯทาง โรลส์-รอยซ์ได้จ่ายค่านายหน้าถึง 7.5% ซึ่งรายงานกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯระบุว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าการจ่ายค่านายหน้าที่เกินปกตินี้ เพื่อนำเงินดังกล่าวไปติดสินบนเจ้าพนักงานของต่างประเทศ
ศอตช.-ป.ป.ช.ลุยตรวจสอบ
ศอตช.รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้อง กันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังเดินหน้าร่วมกันในการสอบสวนเรื่องนี้
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า โครงการของบริษัทปตท. จำกัด และบริษัทปตท.สผ. จำกัด ที่มีการจ่ายเงินค่านายหน้าพิเศษจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ฯ คือ 1.โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 ในจังหวัดระยอง หรือ GSP-5 ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 2546-16 พ.ย. 2547 เกือบ 2.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 87.3 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบโครงการในขณะนั้น มีนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ และนายชาญศักดิ์ ชื่นชม เป็นหัวหน้าหน่วยวิศวกรรมโครงการ
2.โครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติบนบกหน่วยที่ 3 OCS3 โรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 2549-24 ม.ค. 2551 เกือบ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 48.5 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบโครงการขณะนั้น มีนายบวรเดช โกมลวาท เป็นผู้อำนวยการโครงการ นายชาญศักดิ์ ชื่นชม เป็นหัวหน้าหน่วยวิศวกรรมโครงการ
3.โครงการ PCS หรือโครงการติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซในทะเล ระหว่างวันที่ 15-29 ก.ย. 2549-11 ก.ย. 2551 กว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย 72.5 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบโครงการขณะนั้น มีนายบวรเดช โกมลวาท เป็นผู้อำนวยการ โครงการ นายชาญศักดิ์ ชื่นชม เป็นหัวหน้าหน่วยวิศวกรรมโครงการ
4.โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน ของ ปตท. ESP-PTT ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. 2550-18 ก.พ. 2556 เกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 67.6 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบโครงการขณะนั้น มีนายสุชาติ เทวีทิวารักษ์ เป็นผู้อำนวยการ โครงการ นายสมนึก แพงวาปี เป็นวิศวกรโครงการ
ซัมซุงเซ็นร่วมผลิตไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2555 ปตท. และ บริษัท ซัมซุง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ร่วมลงนามสัญญาโครงการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนร่วม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ สำหรับโรงแยกก๊าซอีเทน และโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 จังหวัดระยอง รวมทั้งยังนำความร้อนส่วนที่เหลือจากการผลิตกระแสไฟฟ้า มาสร้างมูลค่าเพิ่มในกระบวนการผลิตของโรงแยกก๊าซอีเทน ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับระบบไฟฟ้าของโรงแยกก๊าซระยอง และลดรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่ต้องซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าในเดือนเมษายน 2557
5.โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 GSP-6 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. 2551-13 พ.ย. 2552 กว่า 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 80 ล้านบาท ผู้รับผิดชอบโครงการขณะนั้นมีนายวิชัย พรกีรติวัฒน์ เป็นผู้อำนวยการโครงการ นายชาญศักดิ์ ชื่นชม เป็นหัวหน้าหน่วยวิศวกรรมโครงการ
งบโรงแยกก๊าซ 6 ‘2 หมื่นล.’
โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ขนาด 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้เงินลงทุน 24,045 ล้านบาท หรือประมาณ 601 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 จะมีกำลังการผลิตก๊าซอีเทนจำนวน 630,000-737,000 ตันต่อปี ก๊าซโพรเพน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จำนวน 900,000-1,030,000 ตันต่อปี และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) จำนวน 160,000-180,000 ตันต่อปี ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เพื่อให้ทันกับกำหนดการเริ่มดำเนินการผลิตของโครงการอีเทน
โรงแยกก๊าซที่ 6 เริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2548 เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซในประเทศที่สูงขึ้น ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 1,2,3 และ 5 ในจังหวัดระยอง ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2553 โดยการอนุมัติการก่อสร้างเกิดขึ้นในสมัยที่นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีนายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัฒนานนท์ เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ มีนายสุวนันท์ ชาติอุดมพันธ์ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ แยกก๊าซธรรมชาติ และมีนายสุชาติ เทวีทิวารักษ์ เป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารโครงการ
เอกสารกำหนดเครื่องRR
การตรวจสอบข้อมูลโครงการพบว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 5 โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 และโครงการโรงแยกก๊าซอีเทน เป็นโครงการที่ถูกอนุมัติเกินราคากลาง และมีผู้ผ่านการประมูลเพียงรายเดียว คือ “Samsung Engineering” โดยรายละเอียดในเอกสารการประมูล มีการระบุชื่อเครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์ฯรุ่น RB211 อยู่ในแบบก่อสร้าง
(Drawing) และข้อกำหนด(Specification) ด้วยวิธีพิเศษทั้ง 3 โครงการ
นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อเครื่องเพิ่มแรงดันก๊าซของโครงการติดตั้งเครื่องเพิ่มความดันก๊าซในทะเล PCS จาก โรลส์-รอยซ์ฯ โดยวิธีพิเศษ เพื่อติดตั้งบนแท่นพักท่อของปตท. จำนวน 3 ชุด วงเงิน 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1,200 ล้านบาท
ปตท.อ้าง 5ส.ทำลายเอกสาร
อย่างไรก็ตามเอกสารที่ปตท.จัดส่งให้กับ ป.ป.ช. นั้น จะระบุมีเพียงว่า ใครคือ ผู้อำนวยการโครงการ ใครคือ กรรมการจัดหาพัสดุ เท่านั้น ส่วนรายงานการจัดหาพัสดุนั้น ได้แจ้งกับป.ป.ช.ว่า ถูกทำลายไปหมดแล้ว เพราะปตท.มีระบบ 5 ส. ที่จะทำลายเอกสารที่มีอายุเกิน 10 ปี
“บางโครงการกรรมการจัดหาพัสดุไม่ได้เห็นชอบ และมีความเห็นแย้งกับการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ด้วยวิธีพิเศษ แต่ผู้มีอำนาจในการบริหารโครงการ กลับนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการปตท.อนุมัติ โดยไม่นำความเห็นแย้งของกรรมการจัดหาพัสดุให้บอร์ดประกอบการพิจารณา ทำให้บอร์ด ปตท. ที่อนุมัติ โครง การไม่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด ถ้าป.ป.ช.จะตรวจสอบเรื่องนี้จะต้องเชิญกรรมการจัดหาพัสดุมาให้ข้อมูล ทั้งหมดเป็นเพียงผู้รับผิดชอบโครงการต้องสอบสวนลงไปให้ถึงตัวผู้รับเงินค่านายหน้าส่วนเกินซึ่งเป็นผู้กระทำผิดที่แท้จริง” แหล่งข่าวระบุ
“เทวินทร์” ปัดแจงข้อมูล
อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ทำหนังสือขอสัมภาษณ์ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงความชัดเจน ที่มาที่ไปกรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ที่เกี่ยวโยงถึงปตท. ได้รับคำชี้แจงกลับมาเมื่อวันที่31 มี.ค.ว่า ช่วงนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้า จึงยังไม่สะดวกที่จะให้สัมภาษณ์
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ
หากท่านสนใจบริการ ตรวจสอบภายในธรรมนิติ (DIR) มีดังนี้
- งานตรวจสอบภายใน (IA)
- ประเมินระบบการควบคุมภายใน
- การบริหารความเสี่ยง
- ประเมินทุจริตคอรัปชั่น
- ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์และไอที
- งานตรวจสอบพิเศษ
- ประเมินคุณภาพงานตรวจสอบภายใน (QAR)
- พัฒนาระบบบัญชี
สามารถติตต่อได้ที่
เบอร์ : 02-596-0500 ต่อ 327 อีเมล : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
บริษัทตรวจสอบภายในธรรมนิติ (DIR) ยินดีให้บริการครับ