News

| Wednesday, 08 February 2017 |

ปิดดีลสายสีน้ำเงิน-ช.การช่างยอมรับความเสี่ยง

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย  นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามเร่งรัดการประมูลและลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เดินหน้าโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

บีบ ช.การช่าง ให้รับความเสี่ยงเอง

"สมคิด-วิษณุ" สางปมเมกะโปรเจ็กต์ เร่งขับเคลื่อนลงทุน ปิดดีลสัมปทานเดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยาย บีบ "ช.การช่าง" รับความเสี่ยงเอง หวั่นโครงการลากยาว รอ ครม.ไฟเขียว ดีเดย์ 9 ก.พ.เซ็นสายสีส้ม 7 หมื่นล้าน พ่วงรอยต่อ "เตาปูน-บางซื่อ" เผยบิ๊กรับเหมาปาดหน้าเค้กทางคู่ 5 สายแสนล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามเร่งรัดการประมูลและลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เดินหน้าโดยเร็ว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


บีบเจรจาใหม่เดินรถสีน้ำเงิน

ล่าสุด ผลเจรจากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เครือ ช.การช่าง เรื่องสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ 27 กม. ระยะเวลา 30 ปี ได้สั่งให้เจรจาใหม่โดยที่รัฐไม่ต้องไปชดเชยรายได้ให้เอกชน เพราะจะทำให้การเจรจายืดเยื้อออกไปอีก เนื่องจากมีแนวโน้มว่า รัฐจะไม่รับข้อเสนอนี้ ทำให้ 2 รองนายกรัฐมนตรี คือ นายสมคิดและนายวิษณุ เครืองาม ได้ส่งสัญญาณมายังคณะกรรมการร่วมทุนฯ ให้เร่งข้อยุติโดยเร็ว รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแค


BEM กลับลำไม่ขอรัฐชดเชย

"สุดท้าย BEM ก็ยอมถอย รับความเสี่ยงทั้งหมด โดยไม่ให้รัฐชดเชยรายได้และจะไม่มีข้อเสนออื่น ๆ เป็นข้อแลกเปลี่ยน จากเดิมก่อนหน้านี้ยื่นข้อเสนอให้รัฐอุดหนุนรายได้ปีละ 76 ล้านบาท รวม 10 ปี เป็นเงิน 760 ล้านบาท แลกกับที่รัฐไม่ให้เก็บค่าแรกเข้าส่วนต่อขยาย และค่าโดยสารทั้งโครงข่ายไม่เกิน 42 บาท เพราะไม่มั่นใจเมื่อเปิดบริการแล้ว ผู้โดยสารจะถึง 8 แสนเที่ยวคน/วันตามที่ประมาณการไว้หรือไม่ ซึ่งเอกชนต้องวัดดวงเอาเอง" แหล่งข่าวกล่าว และว่า

ขณะนี้ผลเจรจาด้านอื่น ๆ ยังคงเดิม เช่น การแบ่งผลประโยชน์รายได้ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้รัฐ ซึ่ง BEM จะแบ่งให้เป็นรายปี ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน ตลอดอายุ 30 ปี ขั้นต่ำอยู่ที่ 50:50 ภายใต้เงื่อนไขต้องมีผลตอบแทนด้านการเงิน (IRR) เกิน 9.75% ทั้งนี้เนื่องจาก IRR ต่ำ มีการคาดการณ์ว่ารัฐอาจจะไม่ได้รับผลแทนของสีน้ำเงินส่วนต่อขยายตลอดอายุสัมปทาน แต่รัฐจะได้รับผลตอบแทนของสายสีน้ำเงินเดิม 27,730 ล้านบาท (หักค่าจ้างเดินรถ 1 สถานีแล้ว) จนหมดอายุสัมปทานปี 2572


รอ สคร.-ครม.ทุบโต๊ะ ก.พ.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอผลเจรจาล่าสุดไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แล้ว หากอนุมัติจะเสนอมายังกระทรวงคมนาคม ประมวลผลเจรจาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

"ตอนนี้กระทรวงทำงานคู่ขนานระหว่างรอ สคร.อนุมัติผลเจรจา กับรออัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา คาดว่าในเดือน ก.พ.- มีค.นี้ หากได้รับอนุมัติจะเซ็นสัญญาได้"


เร่งเปิดเดินรถต่อเชื่อม 1 สถานี

ส่วนแผนเปิดใช้สายสีน้ำเงินในเดือน ส.ค.นี้จะเปิดเดินรถ 1 สถานีเชื่อมสายสีม่วงที่สถานีเตาปูนกับสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่อ จากนั้นปลายปี 2562 จะเปิดหัวลำโพง-บางแค และเปิดหมดปี 2563

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วันที่ 7 ก.พ.นี้กระทรวงจะเสนอสัญญาจ้าง BEM เดินรถ 1 สถานี วงเงินรวม 918 ล้านบาทให้ ครม.อนุมัติ แยกเป็นค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ 671 ล้านบาท ค่าเดินรถ 52 ล้านบาท/ปี คาดว่าจะเปิดบริการเดือน ก.ค.-ต้น ส.ค.นี้

 

9 ก.พ.เซ็นสายสีส้ม-น้ำเงิน

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวว่า วันที่ 9 ก.พ.นี้จะเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา 2 โครงการ มีนายสมคิดเป็นประธาน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี 21.2 กม.จำนวน 6 สัญญา ค่าก่อสร้าง 79,509 ล้านบาท หลังคณะกรรมการอนุมัติ 6 ก.พ.

 

สำหรับ 6 สัญญา ได้แก่

อุโมงค์ใต้ดิน (ศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง 12) ของกิจการร่วมค้า CKST (บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ซิโน-ไทยฯ) 20,698 ล้านบาท
อุโมงค์ใต้ดิน (รามคำแหง 12-หัวหมาก) ของกิจการร่วมค้า CKST วงเงิน 21,572 ล้านบาท
อุโมงค์ใต้ดิน (หัวหมาก-คลองบ้านม้า) ของ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ 18,589.66 ล้านบาท
ทางยกระดับ (คลองบ้านม้า-มีนบุรี) ของ บมจ.ยูนิคฯ 9,999 ล้านบาท
ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ของกิจการร่วมค้า CKST วงเงิน 4,901 ล้านบาท และ
งานระบบราง ของ บมจ.ยูนิคฯ 3,750 ล้านบาท


นอกจากนี้จะเซ็นสัญญากับ BEM เดินรถ 1 สถานี วงเงิน 918 ล้านบาท สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) อยู่ระหว่างเจาจากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บีทีเอสซี-ซิโนไทยฯ-ราชบุรีโฮลดิ้ง) เนื่องจากมีข้อเสนอเพิ่มเติมเรื่องการต่อขยายเส้นทางออกไปอีก คาดได้ข้อสรุปและเซ็นสัญญาภายใน เม.ย.นี้


รับเหมาแห่ชิงเค้กทางคู่ 5 สาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดยื่นซองประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง วงเงินรวม 97,783 ล้านบาท


ผลยื่นซองสายมาบกะเบา-จิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 28,505 ล้านบาท มียื่น 5 ราย ได้แก่
บมจ.ช.การช่าง
บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น
กิจการร่วมค้า ซีทีพี (ไชน่าฮาร์เบอร์- ทิพากร)
บมจ. อิตาเลียนไทย และ
บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น


สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 23,921 ล้านบาท ยื่น 6 ราย มี
บมจ. ซิโน-ไทยฯ
บมจ. ช.การช่าง
บจ. เอ.แอส แอสโซซิเอท
บมจ. อิตาเลียนไทย
บมจ. ยูนิค และ
กิจการร่วมค้า SPS (ซิโนไฮโดร-เพาเวอร์ไลน์-สระหลวง) ผู้รับเหมาไทยกับจีน


สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม. ราคากลาง 16,234 ล้านบาท มี 6 ราย ได้แก่
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ
บมจ. ซิโน-ไทยฯ
บมจ. ยูนิค
บมจ. ช.การช่าง
บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท และ
กิจการร่วมค้า CKS (CRCC + KT + ศักดาพร) ผู้รับเหมาไทยร่วมกับจีน


สายนครปฐม-หัวหิน 165 กม. ราคากลาง 19,270 ล้านบาท มี 6 ราย ได้แก่
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ
บมจ. ซิโน-ไทยฯ
บมจ.ยูนิค
กิจการร่วมค้า CTBB (CRCC + TBTC + BTC) จากประเทศเกาหลี
บมจ. ช.การช่าง และ
บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท


และสายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กม. ราคากลาง 9,853 ล้านบาท มี 8 ราย ได้แก่
บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ร่วมกับ บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ
บมจ. ซิโนไทย
บมจ. ช.การช่าง
บมจ. ยูนิค
กิจการร่วมค้า TBBT (TBTC + BTC)
กิจการร่วมค้า SPSS (สหการ + ซิโนไฮโดร + เพาเวอร์ไลน์ + สระหลวง)
บจ. เอ.เอส.แอสโซซิเอท
และกิจการร่วมค้า KSR ( KT + ศักดาพร)


เปิดเคาะราคาวันที่ 1 มี.ค. ประกาศผลวันที่ 20-24 มี.ค.

ร.ฟ.ท.จะใช้เวลาตรวจซองเอกสารวันที่ 6-17 ก.พ. แจ้งเอกชนผู้มีสิทธิ์เสนอราคา วันที่ 20 ก.พ. 60 เปิดเคาะราคาวันที่ 1 มี.ค. ประกาศผลวันที่ 20-24 มี.ค.

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ข้อเสนอขอชดเชยรายได้ของบริษัท ช.การช่าง จบไปนานแล้ว โดยเอกชนยอมรับว่า เมื่อได้ขยายโครงการครบลูป คือได้ส่วนต่อขยายแล้ว ก็ไม่ต้องให้รัฐจ่ายชดเชยรายได้

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่า "ปีนี้คมนาคมจะเป็นพระเอกเร่งรัดเบิกจ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอย่างน้อย 1.6 แสนล้านบาท จาก 20 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 1.4 ล้านล้านบาท หลังจากปี 2559 เบิกจ่ายล่าช้า เบิกจ่ายได้ 79,000 ล้านบาทหรือ 60% ของที่คาดการณ์ว่าจะได้กว่า 100,000 ล้านบาท มากกว่าปีก่อน ราว 2 เท่าตัว นอกจากนี้ ปีนี้มีโครงการเพิ่มเข้ามาใหม่ 800,000 แผนทั้งหมดมีวงเงินรวม" 2.2 ล้านล้านบาท

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : กรุงเทพซิตี้สมาร์ท

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018