News

| Thursday, 16 March 2017 |

'ประยุทธ์'กำชับ ปราบคอร์รัปชัน ห้ามมีผิดพลาด

นายกฯ กำชับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายบังคับใช้กฎหมายป้องกันคอร์รัปชันเคร่งครัด ย้ำรัฐดำเนินการอย่างระมัดระวัง ป้องกันความผิดพลาด ขณะที่ ป.ป.ท. ส่งฟ้อง 987 คดีจำนำข้าวได้ มิ.ย.นี้ โอ่สถานการณ์ทุจริตในไทยดีขึ้น ด้าน "ป.ป.ช." นัดศุกร์นี้ถกปมสินบนโรลส์-รอยซ์

 

        เมื่อวันพุธ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 5/2560 ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรก หลังจากมีคำสั่ง คสช.ให้เปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามองค์ประกอบคณะกรรมการต่อ ต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็น กรรมการและเลขานุการ แทนประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบใช้จ่ายงบรัฐ ซึ่งมี พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี, นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท., นายมานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย), นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน, นายถวิล เปลี่ยนศรี กรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

 

        พล.อ.ประยุทธ์กล่าวก่อนการประชุมว่า การตรวจสอบและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในทุกภาคส่วนจะต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด เช่นเดียวกันกับรัฐบาลและ คสช. ที่พยายามใช้มาตรการดังกล่าวดำเนินการอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตาม คาดว่าในที่ประชุมจะรายงานและติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบประเด็นการทุจริตต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ รวมถึงแนวทางการป้องกันการทุจริตในอนาคตด้วย

 

        นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. แถลงผลการประชุมว่า ได้แจ้งความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อเรียกปรับค่าเสียหาย 80 เปอร์เซ็นต์ต่อที่ประชุม โดยขณะนี้มีความคืบหน้า 30 -40 เปอร์เซ็นต์แล้ว มีทั้งหมด 987 คดี และได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อไต่สวนทั้งหมดแล้ว คาดว่าภายในเดือน มิ.ย. จะสามารถสรุปสำนวนคดีทางแพ่งและอาญาส่งอัยการฟ้องศาลได้ และอีกส่วนหนึ่งจะส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้กระทำความผิดพิจารณาลงโทษ

 

        นายประยงค์กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือการดำเนินการกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนข้ามชาติ ซึ่งได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการศึกษาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้มีองค์กรอิสระเข้ามาประเมินประเทศไทย ประเด็นที่ประเมินเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินด้วย ทำให้ที่ประชุมสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประเมินดังกล่าวให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการประเมินดังกล่าว

 

        เลขาธิการ ป.ป.ท.กล่าวด้วยว่า องค์กรความโปร่งใสนานาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ได้ประเมินมาตราวัดด้านการคอร์รัปชัน ระบุว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลดีขึ้น โดยถามประชาชนทั้งภูมิภาคอาเซียนกว่า 20,000 คน โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินเมื่อปี 2013 พบว่าประชาชนคนไทย 66 คนบอกว่าสถานการณ์การทุจริตรุนแรงขึ้น แต่ในปี 2017 มีเพียงร้อยละ 14 ที่บอกว่าการทุจริตรุนแรงขึ้น

 

        "ดังนั้นจะเห็นว่าสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยมีตัวชี้วัดที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้เน้นย้ำในที่ประชุมให้สร้างการรับรู้และความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต และการทำงานของทุกหน่วยงานต้องมีความโปร่งใส ไม่ขัดแย้ง เพื่อให้งานเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ" เลขาธิการ ป.ป.ท.ระบุ

 

        วันเดียวกัน มีแหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยว่า วันที่ 17 มีนาคมนี้ กรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 3 คน ได้แก่ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ, นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนไต่สวนคดีบริษัท โรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนการจัดซื้อเครื่องยนต์ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าวเป็นนัดแรกที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี เพื่อกำหนดแผนการไต่สวนว่า จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล พยานเอกสารอะไรเพิ่มเติมบ้าง

 

       ในการประชุมนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการป.ป.ช. จะทำหน้าที่เลขาฯ ที่ประชุมเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงที่ได้มาทั้งหมดรายงานให้ที่ประชุมทราบว่าได้เอกสาร พยานหลักฐาน จากบริษัท การบินไทยฯ นั้นได้อะไรมาบ้าง และมีข้อกล่าวหาอย่างไรสอดคล้องกับพยานหลักฐานมากน้อยแค่ไหน และต้องไต่สวนหาข้อเท็จจริงในส่วนใดเพิ่มเติมในแต่ละด้าน เนื่องตามขณะนี้ทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งข้อมูลมาให้ ป.ป.ช.เพิ่มเติมอีกบางส่วน รวมถึงข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมด้วยที่ได้มาเพิ่มเติม ดังนั้น ต้องพิจารณาหลักฐานที่อาจมีการพาดพิงถึงส่วนอื่นๆ เช่น จากรายงานการประชุม ต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบด้าน ดูว่าใครเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนอย่างไร จากนั้นจึงจะกำหนดถึงการเรียกผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 26 คน แล้วทำหนังสือเชิญผู้ถูกกล่าวหามาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป.

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : ไทยโพสต์

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018