News

| Thursday, 09 February 2017 |

ตรวจสอบทุจริต กับการใช้อำนาจพิเศษ

การเดินหน้าตรวจสอบเรื่องข่าวสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ ที่โยงไปถึงบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กำลังดำเนินไป

ทั้งจากฝ่ายตรวจสอบภายนอกองค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงคือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมถึงการตรวจสอบภายในจากบริษัทการบินไทย และ ปตท.เอง

ขณะเดียวกัน ก็มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจพิเศษด้วยการออกคำสั่งมาตรา 44 มาตรวจสอบเรื่องนี้เพื่อทำให้การตรวจสอบเร็วขึ้น เพราะมองว่าหากจะใช้กระบวนการปกติ อาจทำได้ช้า ไม่ทันการโดยเฉพาะกับภาพลักษณ์ และข่าวที่ปรากฏออกไป ที่นอกจากจะมีผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัทการบินไทย ที่เป็นสายการบินแห่งชาติและบริษัท ปตท.ที่เป็นบริษัทค้าน้ำมันรายใหญ่ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของไทยแล้ว ยังหากปล่อยให้เรื่องนี้ยังคงเป็นที่พูดถึงต่อไป ไม่มีข้อสรุปออกมาโดยเร็วก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย

อย่างเช่นความเห็นของนายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตัน บริษัท การบินไทย และ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ไปยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอให้ ตรวจสอบความโปรงใสกระบวนการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ ที่ขณะนี้ถูกจอดทิ้งไม่มีการใช้งาน ว่ามีความโปร่งใสหรือคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ ทั้งนี้เครื่องบินดังกล่าวมีกระบวนการจัดซื้อตั้งแต่ปี 2545-2546 โดยมีการอนุมัติมาเป็นขึ้นตอนตั้งแต่บริษัทการบินไทย ผ่านระดับกระทรวง แต่เมื่อมาถึงขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นควรให้การบินไทยทบทวนโครงการและเสนอโครงการใหม่ แต่ในที่สุดก็ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และเมื่อนำมาให้บริการ ขาดทุนปีละประมาณ 3-5 พันล้านบาท จึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการ

อดีตกัปตันการบินไทยให้ข้อมูลอีกว่าต่อมา หลังจากนั้นมีผู้สนใจซื้อต่อในราคาลำละ 760 ล้านบาท แต่คณะกรรมการการบินไทยไม่อนุมัติให้ขาย เพราะราคาขณะจัดซื้อลำละประมาณ 5-6 พันล้านบาท ขณะนี้เครื่องบินทั้งหมดปลดประจำการ และจอดอยู่ที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา

โดยอดีตกัปตันการบินไทย ยังเสนอไว้ด้วยว่า ขอให้นายกฯ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบในการบินไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยการตั้งกรรมการพิเศษเพื่อตรวจสอบเฉพาะ และให้ปฏิรูปเพื่อให้เกิดความโปรงใสและไร้ทุจริต

สอดรับกับที่ก่อนหน้านี้ นายบรรยง พงษ์พานิช ที่ก่อนหน้านี้เป็นกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด และยังเป็นอดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ที่ตั้งขึ้นโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.แต่ต่อมาได้ลาออกตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว

โดยนายบรรยงเสนอมุมมองไว้ว่า ไม่เห็นด้วยที่บรรดารัฐวิสาหกิจที่ถูกกล่าวหารับสินบน ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ปตท. จำกัด และบริษัท การบินไทย แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกันเอง รวมทั้งทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ แต่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆ ต่อ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ก็เห็นว่า เนื่องจาก ป.ป.ช.ก็มีข้อจำกัดทั้งทรัพยากรบุคคล รวมทั้งอำนาจในการขอข้อมูลโดยตรงจากต่างประเทศ ที่ต้องผ่านสำนักงานอัยการ กระทรวงการต่างประเทศและอื่นๆ ส่งผลให้กระบวนการตรวจสอบข้อมูลใช้เวลานาน ซึ่งมีกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วอย่างคดีซีทีเอ็กซ์และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ที่ใช้เวลานานนับสิบปีกว่าจะดำเนินการได้

อดีตกรรมการ คนร.ในยุค คสช.จึงเสนอไว้ว่า นายกรัฐมนตรีควรใช้กฎหมาย ม.44 เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ป.ป.ช.2 เรื่องคือ ให้มีอำนาจขยายวงกว้างในการสอบสวนนอกเหนือเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีนี้คือเอเยนต์และผู้ประสานงานต่างๆ และให้สามารถติดต่อขอข้อมูลจากต่างประเทศได้เลย โดยไม่ต้องผ่านอัยการหรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อจะได้มีข้อมูลหาคนผิดมาลงโทษ และทิ้งท้ายไว้ว่าควรใช้เรื่องนี้ให้เป็นโอกาสเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้และเกิดความตื่นตัวต่อต้านการโกงกิน ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนาเชื่องช้า และบอกด้วยว่า ปัจจุบันกระบวนการให้สินบนจัดซื้อจัดจ้างขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปีรัฐและรัฐวิสาหกิจวางบประมาณปีละ 8.5 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบการจัดซื้อจากรัฐและรัฐวิสาหกิจถึง 3 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีการจ่ายสินบนร้อยละ 8% ก็จะเป็นวงเงินการทุจริตสูงถึงปีละนับแสนล้านบาท จึงควรมีบทลงโทษที่รุนแรง ที่มีการคอร์รัปชันเหตุเพราะไม่มีการจับได้ ดังนั้นหากมีการสอบสวนและจับได้บทลงโทษจะต้องรุนแรงมากกว่าที่เป็น

ก็เป็นข้อเสนอมุมมองจากฝ่ายต่างๆ ที่น่าสนใจ ที่สรุปได้ว่า คนในสังคมยังมีความเชื่อถือต่อกระบวนการตรวจสอบต่างๆ อยู่ ทั้ง ป.ป.ช.-สตง. แต่ก็มองว่า กระบวนการต่างๆ อาจใช้เวลานาน เกรงว่าหากปล่อยให้ล่าช้าจะไม่เป็นผลดี ควรต้องเร่งรัดเรื่องให้เร็วขึ้นเพื่อชี้ผิดชี้ถูก สังคมจะได้หายกังขาว่ามีใครเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีเสียงแย้งว่า หากมีการใช้มาตรา 44 แล้วผลการตรวจสอบออกมาโดยเชื่อมโยงไปถึงนักการเมืองบางกลุ่มโดยเฉพาะกับกลุ่มที่อยู่ตรงข้าม คสช. ก็อาจทำให้กลายเป็นประเด็นการเมือง ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบได้ โดยอ้างว่าเป็นการตรวจสอบที่ไม่ปกติ ใช้กระบวนการพิเศษ ของหัวหน้าคณะรัฐประหาร เหมือนกับที่บางกลุ่มเคยใช้เหตุผลนี้ ไม่ยอมรับการตรวจสอบการทุจริตของ คตส.ที่ตั้งโดย คมช.แม้หลายคดีจะตัดสินไปแล้วก็ตาม

ดังนั้น ฝ่ายต่างๆ ที่กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ทั้งการบินไทย บริษัท ปตท. สตง. ป.ป.ช. ก็ควรจะเร่งดำเนินการตรวจสอบให้เร็วขึ้น ภายใต้หลักการดำเนินการที่เป็นธรรม เป็นกลาง รับฟังข้อมูลทุกด้าน ก็น่าจะทำให้สังคมยอมรับกับผลการตรวจสอบที่ออกมาได้.

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : ไทยโพสต์

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018