คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน มายังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อประกอบการพิจารณาของ กรธ. โดยมีทั้งสิ้น 98 มาตรา ซึ่งสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
มาตรา 6 ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 7 คน ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงิน การคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
มาตรา 18 คตง.มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้
(1) วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนมอบสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งให้ความเห็นชอบแผนงานการตรวจเงินแผ่นดินที่สำนักงาน คตง.จัดทำตามนโยบายเสนอ
(2) กำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินให้สำนักงาน คตง.ถือปฏิบัติ รวมทั้งติดตามแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรฐานให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาวการณ์
(3) กำกับให้การตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
(4) พิจารณาวินิจฉัยรายงานผลการตรวจสอบเงินแผ่นดิน ไต่สวนความผิดคดีอาญา และติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปหรือได้ไปโดยมิชอบที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอ
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ที่มาตรา 24 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา
“ในกรณีที่ผลการตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน หรือมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่เงิน หรือทรัพย์สินของราชการ ให้สำนักงานฯ ดำเนินการไต่สวนความผิดคดีอาญากับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดต่อไป
เว้นแต่กรณีมีผู้บริหารระดับสูงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป”
“กรณีผลการตรวจสอบปรากฏว่ามีการจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น หรืออาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และเป็นกรณีที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถจะดำเนินการใดได้
ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณีเพื่อทราบและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป”
สำหรับการไต่สวนความผิดคดีอาญาได้มีการขยายความและจำแนกขั้นตอนการดำเนินการไว้ในหมวด 5 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา 72 ก่อนไต่สวนความผิดคดีอาญา สำนักงาน คตง.อาจตรวจสอบสืบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ข้อเท็จจริงเบื้องต้นก่อนว่าคดีมีมูลหรือไม่ ตามวิธีการที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด และหากการตรวจสอบสืบสวนพบว่าคดีมีมูลและพยานหลักฐานเพียงพอต่อการไต่สวนความผิดคดีอาญาต่อไปได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อผู้ว่าฯ หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ มอบหมายเพื่อดำเนินการให้มีการไต่สวนความผิดคดีอาญาตามหมวดนี้ต่อไปโดยเร็ว
มาตรา 77 เพื่อประโยชน์ในการไต่สวน หากสำนักงานฯ เห็นว่าการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจเป็นอุปสรรคต่อการไต่สวน อาจขอให้ คตง.พิจารณาส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งของเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น เพื่อให้โยกย้ายออกจากส่วนงานที่รับผิดชอบ จนกว่าการไต่สวนดังกล่าวจะแล้วเสร็จ และหากต่อมาผลการไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีมูลความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้ถูกโยกย้าย กลับมารับราชการหรือทำงานในตำแหน่งเดิม
มาตรา 83 กรณีผลการไต่สวนมิได้มีผู้บริหารระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ว่าฯ หรือผู้ที่ผู้ว่าฯ มอบหมาย และ คตง.เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญา ให้ส่งรายงานผลการพิจารณาไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในข้อหานั้นๆ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา และศาลอาจประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง
ขณะที่ บทเฉพาะกาลของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ใน มาตรา 98 บัญญัติให้ประธานและกรรมการ คตง. และผู้ว่าฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป และเมื่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วให้ยังคงดำรงตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 3 ปี ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 71/2557 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 279 บัญญัติให้มีผลใช้บังคับโดยชอบต่อไป
ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : PostToday
หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่
เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง