สัมภาษณ์พิเศษ คุณคำนึง สาริสระ ประธานกรรมการบริหาร และ คุณศักดิ์ศรี อัมพวัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด
ในปัจจุบัน ภายใต้สภาวะการแข่งขันในเชิงธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้กิจการต้องเผชิญภาวะเสี่ยงที่จะบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ และยังผลให้ฝ่ายบริหารอยู่ภายใต้ความกดดันที่จะต้องนำพาให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งคุณค่า (Valued) และพันธกิจ (Mission) ตามวิสัยทัศน์ (Vision) ของกิจการ โดยเฉพาะสภาวะเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและสภาวะเสี่ยงในกระบวนการดำเนินงานของกิจการ
“งานตรวจสอบภายใน” (Internal Auditing)
เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สามารถให้คุณค่าแก่ฝ่ายบริหารและกิจการ เพื่อสนับสนุนให้องค์กรได้ตระหนักรู้ และปรับกระบวนการจัดการและการดำเนินงานให้ทันต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป อันจะช่วยให้ฝ่ายบริหารมั่นใจได้ว่ากิจการภายใต้ความรับผิดชอบดูแลนั้นดำรงคุณภาพที่จะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์และแผนงานทางธุรกิจที่คาดหวังได้
“การตรวจสอบภายใน” มีความหมายอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไร
“ความหมายของการตรวจสอบภายใน คือ การให้ความเชื่อมั่นและการให้คำปรึกษา อย่างเที่ยงธรรมและเป็นอิสระ เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร ดังนั้นการตรวจสอบภายในจึงมีความสำคัญ เนื่องจากการตรวจสอบภายในจะช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้วยการประเมินวิเคราะห์ และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงประสิทธิผลของกระบวนการบริหารความเสี่ยง การควบคุม และการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ ทั้งนี้ หากจะขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นก็หมายถึงว่า ในการดำเนินงานของบริษัทหรือองค์กรนั้นอาจมีปัญหาและอุปสรรคมากมายในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการขายและการเก็บเงิน การปฏิบัติงานทางบัญชีการเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล การดูแลรักษาทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการและฝ่ายบริหารอาจจะไม่สามารถทำหน้าที่กำกับดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงต้องอาศัยผู้ตรวจสอบภายในมาทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายบริหารและคณะกรรมการเพื่อลดปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและลดโอกาสที่อาจเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต โดยใช้วิธีการตรวจสอบหรือเป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ข้อคิดเห็น/เสนอแนะในการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน กำหนดวิธีการปฏิบัติงาน กำหนดอำนาจอนุมัติต่างๆ ให้เหมาะสม รวมทั้งการจัดทำ/กำหนดเอกสาร หลักฐานประกอบการบันทึกการปฏิบัติงานต่างๆ เป็นต้น”
“การควบคุมภายใน” กับ “การตรวจสอบภายใน” มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
"การควบคุมภายในและการตรวจสอบภายใน ต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดและลดผลกระทบจากความเสี่ยงที่จะเกิดกับองค์กร และเพิ่มโอกาสให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ถ้าจะขยายความเกี่ยวกับการควบคุมภายในก็หมายถึงว่า สิ่งต่างๆ ที่คณะกรรมการบริษัทหรือองค์กร ฝ่ายบริหารและรวมถึงผู้ปฏิบัติงานได้กำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางและ/หรือวิธีการปฏิบัติงานให้งานแต่ละเรื่องสำเร็จลงได้ด้วยดีอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย แผนงาน การกำหนดโครงสร้างองค์กร และโครงสร้างของแต่ละฝ่ายงาน การกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจการอนุมัติ การกำหนดวิธีการปฏิบัติงานต่างๆ ให้ชัดเจน การรายงานผลการปฏิบัติงาน และวิธีการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามการควบคุมภายในที่กำหนด และการตรวจสอบภายในก็ทำหน้าที่ตรวจสอบหรือเป็นที่ปรึกษาในเรื่องดังกล่าวข้างต้น อาจกล่าวได้ว่า
“การตรวจสอบภายในก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามการควบคุมภายในที่กำหนด และถือได้ว่าการตรวจสอบภายในก็เป็นการควบคุมภายในอย่างหนึ่งขององค์กรด้วย”
“ธรรมนิติ”ให้บริการงานตรวจสอบภายในแก่ลูกค้าภายนอกมาเป็นระยะเวลานานเท่าใดและนอกเหนือจากบริการงานตรวจสอบภายใน ยังมีบริการประเภทอื่นอีกหรือไม่
“กว่า 15 ปีที่ธรรมนิติให้บริการงานตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลกิจการที่ดี ในนามบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด เริ่มตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นภายหลังวิกฤติ 2540 ตอนนั้นเรามีลูกค้าที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาใช้บริการจำนวน 3 ราย และขยายปริมาณงานให้บริการตรวจสอบภายในเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่ได้รับโอกาสและความไว้วางใจจากลูกค้าต่อเนื่องกันมา รวมถึงได้รับความกรุณาจากที่ปรึกษาการเงินต่างๆ แนะนำลูกค้าให้ใช้บริการตรวจสอบภายในธรรมนิติ ตั้งแต่ในขั้นการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากเพิ่มขึ้นทุกปี จนทำให้เราได้มีโอกาสขยายงานตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันเรามีลูกค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เรารับผิดชอบดูแลด้านการตรวจสอบภายในกว่า 30 บริษัท และสุดท้ายก็ได้รับการเสนอและอนุมัติในสภากรรมการธรรมนิติ ให้งานตรวจสอบภายในแยกตัวจากบริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด มาเป็น บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้ขยายบริการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจสอบหรือเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับระบบการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และงานประกันคุณภาพงานตรวจสอบภายใน (QAR) งานที่ปรึกษาและพัฒนาระบบบัญชีและการเงิน งานตรวจสอบพิเศษต่างๆ เช่น งานตรวจนับทรัพย์สิน ตรวจนับสินค้าคงเหลือ เป็นต้น เพื่อตอบสนองต่อปัญหาในการดำเนินงานทางธุรกิจให้กับบริษัท บริษัทมหาชน และองค์กรต่างๆ ให้มากที่สุดตามลำดับ”
Download เอกสารบทสัมภาษณ์ ฉ.สมบูรณ์ เพิ่มเติม ที่นี่