News

| Monday, 16 January 2017 |

5 โอกาส กับ 5 ความเสี่ยง ที่ต้องจับตามอง

เติมความคิดพิชิตการลงทุน โดย พรเทพ ชูพันธุ์ บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

สำหรับปี 2559 ที่ผ่านมา นับว่าเป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนอย่างมากแต่ก็ให้ผลตอบแทนที่งดงามสำหรับนักลงทุนระยะยาว โดย SET Index ร่วงลงแตะจุดต่ำสุดที่ราว 1,220 จุดในช่วงต้นปี แล้ววิ่งรวดเดียว 300 จุดขึ้นไปที่ 1,550 ตอนกลางปีก่อนจะ Correction หลุด 1,400 จุด แล้วฟื้นตัวกลับมาปิดสิ้นปีได้ที่ 1,542 จุด ทำให้ภายใต้ความผันผวนดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่รุ่งที่สุดในภูมิภาค โดยปรับตัวขึ้นราว 20% ชนะตลาดหุ้นใกล้บ้านอื่น ๆ ไปได้อย่างสวยงาม

 

หากจะมีบทเรียนที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ผมเก็บไว้เตือนใจตัวเองและอยากแบ่งปันให้กับนักลงทุนทุกท่านนั่นก็คือหากต้องการผลตอบแทนที่สูงก็ต้องเตรียมพร้อมรับความผันผวนที่สูงด้วยหรือในทางปฏิบัติเราต้องไม่ลงทุนเกินความเสี่ยงที่เรารับได้ เพราะเมื่อใดที่เราทำใจรับความเสียหายในระยะสั้นไม่ได้ ก็อาจตัดใจผิดพลาดขายหุ้นที่เราเลือกมาดีแล้วทิ้งไปในจุดที่เรียกว่าขายหมู และเสียโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่ดีไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้นสิ่งที่พอนำไปประยุกต์ใช้จากบทเรียนดังกล่าวคือ

 

1.ลงทุนในหุ้นให้น้อยลงหากรับความเสี่ยงของหุ้นล้วนๆไม่ไหวโดยแบ่งเงินที่เหลือมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นบ้าง ซึ่งจะทำให้ในภาพรวมพอร์ตของเราผันผวนน้อยลง ใจเรานิ่งขึ้น ลงทุนรับผลตอบแทนระยะยาวได้

 

2.ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีเพราะมันจะพลิกฟื้นกลับมาได้หากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญระยะเวลาลงทุนที่ยาวนานช่วยให้หุ้นพื้นฐานดีกลับมามีกำไรได้แต่ต้องระวังว่าหลักการนี้ใช้กับหุ้นปั่นไม่ได้ (ดีไม่ดี ถือนาน ๆ จะเจ๊งหนักขึ้นด้วย)

 

3.เหลือเงินสดไว้บ้าง อย่าจัดเต็ม ไม่มีปีไหนที่หุ้นวิ่งขึ้นหรือลงเป็นเส้นตรงตลอดทั้งปี มันต้องมีพักฐาน หรือ Correction บ้าง การมีเงินสดไว้นอกจากจะทำให้เราใจนิ่งขึ้น ยังทำให้เราสามารถลงทุนเพิ่มในหุ้นพื้นฐานดีได้เวลามันแกว่งตัวลง แล้วอย่าลืมขายออกเวลาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง ๆ ด้วยนะครับ

หลังจากมองอดีตกันแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมองไปข้างหน้ากันบ้าง โดยในปี 2560 นี้น่าจะเป็นปีที่ลงทุนยากกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา โอกาสที่จะเห็น SET Index ปรับตัวขึ้นแรงถึง 20% อีกปี (ต่อเนื่องกันเป็นปีที่สอง) อาจไม่ง่ายนัก ทั้งนี้ 5 Themes ที่น่าจะเป็นโอกาสการลงทุนในปีนี้ได้แก่

 

1.ราคาน้ำมันพ้นจุดต่ำสุด และกำลังปรับตัวขึ้น หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่ม OPEC บรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งไม่ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็น่าจะส่งผลดีต่อราคาน้ำมันบ้าง และยังส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าเกษตร (Soft Commodities) อื่น ๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลดีภาคเกษตรและแรงงานกว่า 1/3 ของไทยซึ่งอยู่ในภาคเกษตรด้วย

 

2.อัตราเงินเฟ้อฟื้นตัว นอกจากจะเกิดจากราคาน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว ยังเกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งการฟื้นแบบนี้นอกจากจะส่งผลดีต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่าง ๆ (อุปสงค์ฟื้นย่อมดีกับ Margin ของบริษัท) ยังส่งผลดีต่อภาคธนาคารด้วยตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย (ดีกับภาคธนาคาร)

 

3.มูลค่าการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก ศูนย์วิจัยฯ ไทยพาณิชย์ มองว่ามูลค่าการส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวเป็นบวกราว 1-2% ในปี 2560 นับว่าเป็นการ Turnaround จากที่ติดลบในปี 2559 ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกและสายการผลิตอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องน่าจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย

 

4.การเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้นด้วยนโยบายการคลังหรือการใช้จ่ายภาครัฐเพราะนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องโดยธนาคารกลางเริ่มหมดแรงหลังจากหลายประเทศทำQE ต่อเนื่องกันมาหลายปี (นอกจากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังเสี่ยงฟองสบู่ด้วย) นโยบายการคลัง อย่างการลงทุนภาครัฐ และการลดภาษีที่สหรัฐส่งสัญญาณจะนำมาใช้ น่าจะเป็นแรงส่งต่อเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

 

5.การลงทุนภาครัฐของไทย ที่กำลังเดินเครื่องอนุมัติโครงการลงทุนต่าง ๆ อย่างเต็มที่หลังจากล่าช้ามานาน โดยในปี 2559 เพียงปีเดียวมีการอนุมัติและประมูลโครงการต่าง ๆ ไปถึงราว 3 แสนล้านบาท (เม็ดเงินจะทยอยออกในระยะต่อไป) ก็นับว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของโครงการต่าง ๆ ที่ประมูลกันไปในช่วง 2551-2558 รวมทั้งหมด 8 ปีเพียง 2 แสนล้านบาท

 

โอกาสทั้ง 5 ข้อนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มหลักของไทย เช่น กลุ่มพลังงาน (ผลดีจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น) กลุ่มธนาคาร (การฟื้นตัวของเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจขยายตัว และการส่งออกที่ฟื้น จะดีกับธนาคารในสามด้านคือ ดอกเบี้ยขาขึ้น การกู้ยืมเพิ่มขึ้น และปัญหา NPL ดีขึ้นด้วย) และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนภาครัฐบาล)

 

อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปี 2560 (หลัก ๆ มาจากภาคต่างประเทศ) ได้แก่ 1.ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายต่างประเทศแบบอเมริกาต้องมาก่อน ("America First" Policy) 2.ความเสี่ยงทางการเมืองในยุโรป ทั้งการเริ่มออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่น่าจะมาเขย่าตลาดทั้งในครึ่งแรกและครึ่งหลังของปี 3.การขึ้นดอกเบี้ยและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่ออกตัวนำประเทศอื่น ๆ ไปก่อน จนอาจทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงที่ 4.ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้นอกประเทศเยอะ จะตกที่นั่งลำบากเมื่อเงินไหลออกจนค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่า (จับตาดูจีนให้ดี)

 

และ 5.ความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้าในโครงการลงทุนภาครัฐฯ ของไทย เพราะหากล่าช้าก็จะกระทบความเชื่อมั่นจนอาจทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ชะลอตามไปด้วย

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018