News

| Thursday, 09 March 2017 |

ปฏิรูประบบกำกับดูแลสหกรณ์ปิดช่องโหว่ทุจริต

ครม.เห็นชอบแนวทางปฏิรูประบบบริหารจัดการ-กำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยนำระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินมาใช้

       07 มี.ค. 60 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เนื่องจากเห็นว่าการทำธุรกรรมทางการเงินของสหกรณ์ฯ ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเริ่มมีนัยสำคัญต่อระบบสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการกำกับและตรวจสอบกิจการทางการเงินที่ดี อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกสหกรณ์ฯ และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน โดยแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภท ประกอบด้วย 4 หลักการ


       1.หลักการในการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ฯ โดยให้มีการกำกับดูแลทางการเงินในแนวทางเดียวกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยนำหลักการกำกับดูแลสถาบันการเงินของ Basel I มาปรับใช้ให้เหมาะสม


       2. ร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการกำกับดูแลกิจการทางการเงินของสหกรณ์ พ.ศ.... จะมีสาระสำคัญใน 4 ด้าน คือ 1.ด้านธรรมาภิบาล โดยให้มีการถ่วงดุลอำนาจในสหกรณ์ฯ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ควรต้องแยกการวิเคราะห์สินเชื่อและการอนุมัติสินเชื่อออกจากกัน, สหกรณ์ไม่ควรจ่ายเงินปันผลเกิน 80% ของกำไรสุทธิ, สมาชิกสมทบของสหกรณ์ ต้องเป็นบิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตรของสมาชิกสหกรณ์ฯ เท่านั้น, งบการเงินของสหกรณ์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานบัญชีไทย, เพิ่มเติมเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลงบการเงินทั้งหมดให้แก่สมาชิกสหกรณ์ฯ และกรรมการดำเนินการในสหกรณ์ฯ จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้เกิน 2 วาระติดกัน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะใช้กับสหกรณ์ทุกขนาด


       และหลักเกณฑ์ด้านธรรมาภิบาลที่ได้เพิ่มเติมสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน และผู้จัดการสหกรณ์ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ การเงิน และการบัญชี, ให้มีคณะกรรมการชุดย่อยที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อรับผิดชอบด้านการตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยงของสหกรณ์ฯ, ให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในที่เหมาะสมกับขนาด ลักษณะ และขอบเขตการประกอบธุรกิจของสหกรณ์ฯ, ว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานสถาบันการเงิน


       2.ความเสี่ยงด้านเครดิต ปรับปรุงแนวทางการจัดชั้นสินเชื่อหรือสินทรัพย์ให้สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้อย่างแท้จริง และมีการกันสำรองเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสหกรณ์, การพิจารณาเงินกู้ให้สมาชิกสมทบ ต้องไม่เกินมูลค่าของเงินฝากและเงินค่าหุ้นของสมาชิกสมทบ และภาระหนี้ต่อรายได้รวมสุทธิของสมาชิกรายใดรายหนึ่งต้องไม่เกิน 70%, จำกัดประเภทและปริมาณหลักทรัพย์ที่สหกรณ์ฯ สามารถฝากหรือลงทุนโดยการลงทุนของสหกรณ์ฯ ต้องไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้น, มูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทต้องไม่เกิน 5% ของปริมาณหุ้นกู้ของบริษัทนั้น, ห้ามสหกรณ์ฯ ซื้อหรือมีไว้ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ เว้นแต่เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับดำเนินกิจการหรือได้มาจากการชำระหนี้ และการประกันสินเชื่อ, กำหนดความสามารถในการก่อหนี้ของสหกรณ์ฯ อัตราส่วนหนี้ต่อทุนไม่เกิน 1.5 เท่า และการปรับโครงสร้างหนี้ต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขหนี้เพื่อให้สหกรณ์ฯ มีโอกาสได้รับเงินต้นคืนได้มากขึ้น


       โดยความเสี่ยงด้านเครดิตที่ได้เพิ่มเติมสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ กำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมการดำเนินการ หรือผู้บริหารระดับสูงของสหกรณ์ฯ เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อในลักษณะเอื้อประโยชน์, เพิ่มเติมการกำกับดูแลลูกหนี้รายใหญ่ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของพอร์ตสินเชื่อมากจนเกินไป โดยกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อลงทุน ก่อภาระผูกพัน หรือทำธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อแก่บุคคลหรือโครงการหนึ่งต้องไม่เกิน 100 เท่าของรายได้ หรือการให้กู้แก่สหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่ง ต้องไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้น หรือไม่เกิน 15 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และต้องเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


       3.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง สหกรณ์ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม, แก้ไขนิยามสินทรัพย์ที่สหกรณ์ฯ สามารถนับเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง โดยกำหนดให้เป็นสินทรัพย์ที่สหกรณ์ฯ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดภายในระยะเวลาที่เหมาะสม


       ส่วนความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์สำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ กำหนดนโยบายและแผนงานการบริหารจัดการด้านสภาพคล่อง และนำส่งรายงานแบบข้อมูลการบริหารจัดการสภาพคล่องด้วย


       4.ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านการควบคุมภายในที่ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาดจากการดำเนินงาน และการทุจริตของคณะกรรมการดำเนินการและผู้อำนวยการสหกรณ์ฯ เป็นหลัก ส่วนหลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับสหกรณ์ขนาดใหญ่ คือ ให้คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูง มีหน้าที่บริหารความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ โดยกำหนดกรอบงบนโยบายและแผนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับองค์กร รวมทั้งให้มีหน่วยงานตรวจสอบภายในเป็นการเฉพาะ โดยให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบของสหกรณ์


       นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับทราบผลกระทบต่อการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ก่อนที่จะนำร่างระเบียบนายทะเบียนดังกล่าวมาบังคับใช้ โดยกระทรวงเกษตรฯ อาจพิจารณาทยอยนำเกณฑ์ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ไม่มากมาบังคับใช้ก่อน และพิจารณาทยอยออกเกณฑ์อื่นๆ ตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ของระบบสหกรณ์ต่อไป


       พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบให้มีการดำเนินการใน 3 ระยะสำหรับการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ดังนี้ ระยะเร่งด่วน ให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดแผนการดำเนินงานที่คำนึงถึงการให้โอกาสสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในการปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปฏิรูปฯ รวมทั้งจัดฝึกอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อให้สามารถนำแนวทางปฏิรูปฯ ไปขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


       ระยะกลาง ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับหลักเกณฑ์ตามแนวทางปฏิรูปฯ ในส่วนที่ต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถนำแนวทางนี้ไปสู่การปฏิบัติได้ ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการในขั้นตอนของการตรวจร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ (ฉบับที่..) พ.ศ....


       ระยะยาว ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันพิจารณาการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นการเฉพาะ แยกออกจากการกำกับดูแลสหกรณ์ประเภทอื่นๆ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการและกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้เทียบเท่ากับการกำกับสถาบันการเงินรูปแบบอื่นๆ ต่อไป


       นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.สหกรณ์ ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับการกำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินกิจการของสหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นประกอบธุรกิจเงินทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฝากเงินและให้กู้เงิน ซึ่งสมาชิกจะมีความหลากหลาย ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานหรือองค์กรเดียวกัน หรือไม่ได้ประกอบอาชีพเดียวกัน เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของสมาชิกและผู้ที่มีส่วนได้เสีย ตลอดจนป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น


       ทั้งนี้ ให้นำร่างกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปผนวกกับร่างกฎหมายในเรื่องเดียวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำ เพื่อให้เกิดความรัดกุมในการกำกับดูแล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มาภาพ : TNN24

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-596-0500 ต่อ 327 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018