News

| Friday, 21 October 2016 |
Written by 

ความเสี่ยง ความเสี่ยง ความเสี่ยง

กรรมการบริษัทสหราชอาณาจักร หรือ  UK IOD ที่ปีนี้จัดในหัวข้อ “Thriving in a changing world” หรือ รุ่งเรืองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง งานจัดที่ Royal Albert Hall กรุงลอนดอน

        มีกรรมการบริษัทจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นพันคน ถือเป็นงานใหญ่และประเด็นที่พูดคุยกันมากในปีนี้คือ เรื่องความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ที่ปัจจุบันมีอยู่ในหลายมิติ เป็นประเด็นที่กรรมการบริษัทต้องตระหนัก เพื่อดูแลให้บริษัทสามารถปรับตัวและเติบโตได้ในภาวะที่ท้าทายเช่นนี้

        ในประเด็นเศรษฐกิจโลก วิทยากรที่มาให้ความเห็นและเปิดประเด็นเรื่องความเสี่ยง คือ ดร.แดมบิสา โมโย (Dambisa Moyo) นักเศรษฐศาสตร์สุภาพสตรีที่ถูกจัดเป็นหนึ่งในร้อยของสตรีที่ทรงอิทธิพลในเศรษฐกิจโลก ดร.โมโย กล่าวว่าปัจจุบันเป็นช่วงหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกมีการกระจุกตัวของความเสี่ยงพร้อมกันมากที่สุด โดยมองความเสี่ยงเป็นสองกลุ่ม


        กลุ่มแรก คือ ความเสี่ยงระยะสั้น ที่ทุกคนทราบดีว่าเป็นความไม่แน่นอนที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินในระยะต่อไป เป็นความไม่แน่นอนที่บริษัทธุรกิจต้องพยายามบริหารจัดการหรือปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งที่สำคัญ คือ

       
        1 Brexit ที่จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตและการเติบโตของการค้า การลงทุน และการเติบโตของเศรษฐกิจยุโรปและอังกฤษ สอง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีนี้ ซึ่งถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐก็จะมีผลอย่างสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ สาม คือ แนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนการกู้ยืมทั่วโลก สร้างความผันผวนต่อการไหลเข้าออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะกระทบเสถียรภาพของประเทศตลาดเกิดใหม่ สี่ คือ ความเสี่ยงด้านการเมือง โดยเฉพาะข้อพิพาทหรือความตึงเครียดในหลายพื้นที่ในโลกที่กระทบความเชื่อมั่น กระทบความปลอดภัยในการทำธุรกิจ รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามหรือความขัดแย้งใหญ่ในอนาคต และ ห้า คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหัวรถจักรอย่างจีน บราซิล รัสเซีย และอินเดีย ดึงให้การขยายตัวและการสร้างรายได้ในประเทศตลาดเกิดใหม่ลดลง


        ทั้ง5เรื่องนี้ คือ ความเสี่ยงระยะสั้นที่จะกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก กระทบราคาสินทรัพย์ และเพิ่มความผันผวนในตลาดการเงิน


        สำหรับกลุ่มสอง คือ ความเสี่ยงระดับโครงสร้างที่ ดร.โมโย ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Structural risk ที่จะเปลี่ยนโครงสร้างและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจโลกให้แตกต่างไปจากเดิม แต่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจะเป็นอย่างไร ตัวอย่างความเสี่ยงกลุ่มนี้คือ


        1. เทคโนโลยี่ ที่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่ในการผลิต จะทำให้การให้บริการ สินค้า และบริการในระบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปทั้งในภาคธุรกิจและภาคราชการ ในเบื้องต้นประเมินว่ากว่าร้อยละ 40 ของธุรกิจในสหรัฐ จะกระทบหรือถูก disrupt จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี่ ขณะที่ความพร้อมของภาคทางการที่จะบริหารผลกระทบเหล่านี้ รวมถึงผลที่เทคโนโลยี่จะมีต่อการให้บริการของภาครัฐเองก็ยังไม่ชัดเจน ผลกระทบจากเทคโนโลยี่ที่มีการพูดถึงมากที่สุด คือ ผลต่อการมีงานทำ คนจะตกงานมากขึ้น กลายเป็นจุดเปราะบางทางสังคมที่จะมีนัยต่อทั้งเศรษฐกิจและการเมือง


        2. คือ เรื่องประชากรที่จำนวนประชากรในโลกที่ปัจจุบันมี 7.4 พันล้านคน จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเวลาสิบปีข้างหน้า ซึ่งจะโตเร็วกว่าอาหารและความพอเพียงของทรัพยากรธรรมชาติที่จะสนับสนุน ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติจะขาดแคลนและเป็นปัญหาใหญ่


        3. คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นประเด็นทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตได้ทำให้การกระจายรายได้แย่ลง เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่มีการปกครองแบบสังคมนิยม และแบบประชาธิปไตย ตัวอย่างที่ดีคือ สหรัฐและจีนซึ่งแตกต่างกันมากในโมเดลการเติบโตของเศรษฐกิจและการเมือง แต่ทั้งสองประเทศก็มีระดับของปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ วัดโดยดัชนี จินี่ (Gini Coefficient) ใกล้เคียงกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นสำคัญด้านนโยบายที่ต้องแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีประเทศไหนมีแนวทางชัดเจนที่จะดูแลเรื่องนี้


        4. คือ ปัญหาผลิตภาพการผลิต หรือ ความสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตจากปัจจัยการผลิตที่มีอยู่ ซึ่งคำตอบจะอยู่การปรับใช้เทคโนโลยี่ และคุณภาพของบุคลากร โดยเฉพาะการลงทุนด้านการศึกษา เมื่อผลิตภาพการผลิตไม่เพิ่ม โอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะสามารถขยายผลผลิตในอัตราที่สูงขึ้นก็จะลดลง สร้างข้อจำกัดต่อการมีงานทำ การสร้างรายได้และคุณภาพชีวิต


        5. คือ ภาระหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ประมาณว่าหนี้ทั่วโลกขณะนี้มีเกือบ 240 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อหนี้อยู่ในระดับที่สูงก็จำเป็นที่ลูกหนี้จะต้องลดหนี้ ลดการใช้จ่ายมากกว่าที่จะเพิ่มการใช้จ่าย นี้คือที่มาของกระบวนการลดหนี้หรือ deleveraging ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายและเติบโตของเศรษฐกิจ


        ความเสี่ยงระดับโครงสร้างทั้งห้าด้านนี้ เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่คาดเดายากว่าทิศทางและขนาดของผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร รุนแรงแค่ไหน และเมื่อรวมความเสี่ยงเหล่านี้กับความเสี่ยงระยะสั้นที่ได้กล่าวถึงไปแล้วก็ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีความเสี่ยงต่าง ๆ กระจุกตัวหนาแน่นไปหมดจริง ๆ เป็นภาระให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ รัฐบาล และประชาชนผู้บริโภคต้องปรับตัว


        ในความเห็นของผม การปรับตัวกำลังเกิดขึ้น แต่อาจไม่ช่วยให้เราบริหารผลกระทบจากความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีพอ เพราะเป็นการปรับตัวแบบต่างคนต่างอยู่มากกว่าที่จะช่วยกันแก้ปัญหา เช่น ในภาคประชาชน กระแสความเบื่อหน่ายโลกาภิวัตน์ นับวันยิ่งจะมีมากขึ้น สังเกตจากปริมาณการค้าและการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศที่ลดลง ขณะที่การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามประเทศก็ได้กลายเป็นประเด็นการเมืองไปแล้ว สิ่งเหล่านี้ชี้ว่าโลกขณะนี้กำลังเป็นโลกแบบไซโล (Silo) ต่างคนต่างอยู่ และใครที่ปรับตัวไม่ได้ทั้งในภาคธุรกิจและประชาชน ก็จะหันมาพึ่งรัฐบาลเพื่อความอยู่รอด ทำให้รัฐมีภาระมากขึ้น และมีบทบาทสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สวนทางกับแนวคิดกระแสหลักที่ภาครัฐควรต้องเล็กลง และให้กลไกตลาดทำงานเพื่อสร้างประสิทธิภาพและการเติบโตให้กับเศรษฐกิจ


        ล่าสุด กรณีของธนาคารดอยซ์แบงค์ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของปัญหาและภาระที่เศรษฐกิจโลกมีอยู่

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : การเมือง กรุงเทพธุรกิจ

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Monday, 17 September 2018