News

| Monday, 10 May 2021 |
Written by 

บริหารธุรกิจครอบครัวอย่างไร ให้ประสบความสำเร็จแบบบริษัทมหาชน

ธุรกิจครอบครัวคืออะไร

ธุรกิจครอบครัวหรือ Family Business มีรูปแบบโดยทั่วไปคือ ธุรกิจที่หุ้นของกิจการมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าของโดยสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง หรือธุรกิจที่มีการสืบทอดมาสู่ลูกหลานอีกรุ่นหนึ่ง

ธุรกิจครอบครัวเป็นอีกรูปแบบทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมในไทย โดยร้อยละ 80 ของธุรกิจในไทยเป็นธุรกิจครอบครัว และกว่า 20 องค์กรที่เข้าไปโลดแล่นอยู่ใน SET50 มีมูลค่าตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 30 ของ SET50 แต่ในสายตาของคนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจมองว่า ธุรกิจครอบครัวไม่น่าสนใจและยากจะประสบความสำเร็จ

แต่แท้จริงแล้วหากพิจารณาทั่วทั้งโลกจะพบว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและยิ่งใหญ่มีรูปแบบธุรกิจครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 80 ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในเอเชีย และร้อยละ 40 ขององค์กรขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา คือ “ธุรกิจครอบครัว”

ถึงแม้ว่าธุรกิจครอบครัวจะดูดีและให้ผลลัพธ์ที่ดีกับคุณและครอบครัว แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน เคยมีการกล่าวถึงมากมายว่า ธุรกิจครอบครัวยากที่จะอยู่รอดเกินรุ่นที่ 3 หรือไม่มีทางที่จะขยายให้เติบโตได้อย่างเต็มที่ด้วยข้อจำกัดของแต่ละครอบครัว ความล้มเหลวเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นเพราะการขาดแผนงานและหลักการในการทำให้ธุรกิจครอบครัวกลายเป็นธุรกิจจริง ๆ ธุรกิจครอบครัวที่ไม่สามารถแยกการตัดสินใจหรือโครงสร้างทางธุรกิจกับครอบครัวออกจากกันได้ พบว่ามีแนวโน้มความล้มเหลวสูง หรืออย่างน้อยที่สุด คือ ไม่สามารถโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งปัจจัยที่เป็นจุดอ่อน ความเสี่ยงและภัยคุกคามความสำเร็จของธุรกิจครอบครัว ประกอบไปด้วย

1. ความขัดแย้งด้านการวางแผนและด้านส่งต่อ การวางแผนสืบทอดเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม ทั้งในกระบวนการเลือกผู้สืบทอดและการเตรียมความพร้อมของทายาทธุรกิจ ไม่ใช่แค่การเลือกจากความเห็นของผู้บริหารในรุ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้นำครอบครัวเสียชีวิตโดยไม่มีการวางแผนรองรับ จะทำให้ระบบการบริหารการจัดการเกิดความยุ่งยาก การวางแผนด้านการส่งต่อธุรกิจที่ดีจะต้องมีความครอบคลุมในด้านของระบบการทำงานของบุคลากรทุกคนเมื่อผู้บริหารนั้นเปลี่ยนมือ

2. ความขัดแย้งในครอบครัว และการบริหารทรัพย์สินที่ไม่เป็นระบบ ปัญหาทรัพย์สินมักเป็นสาเหตุของปัญหาทั้งเรื่องเล็กน้อยและเรื่องใหญ่ ดังนั้นหากต้องการที่จะลดปัญหาของการอยู่ร่วมกันหรือทำงานร่วมกัน สิ่งที่ควรจะต้องดำเนินการเป็นเรื่องแรกก็คือการสร้างความชัดเจนในการบริหารทรัพย์สินส่วนกลาง และการสร้างข้อตกลงร่วมกัน

3. ความขัดแย้งของอารมณ์ เรื่องของอารมณ์เป็นเรื่องใหญ่สำหรับธุรกิจครอบครัว เพราะความเป็นครอบครัวเดียวกันนั้นอาจทำให้ละเลยในเรื่องของความเกรงใจ อาจแยกแยะระหว่างเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานมิได้ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่องไม่สบอารมณ์ก็อาจเกิดอารมณ์โมโหใส่กันก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจครอบครัวควรจะต้องคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ เพราะอาจมีปัญหากระทบไปถึงธุรกิจได้

4. ความขัดแย้งเกี่ยวกับการยึดติดกับค่านิยมเก่า ๆ การที่บริษัทเป็นองค์กรที่เเข็งเเกร่งเป็นเรื่องที่ดี เเต่ก็ไม่ควรยึดมั่นกับคำสอนเก่า ๆ จนไม่เปลี่ยนเเปลงอะไรใหม่ ๆ เลย โดยควรรับฟังความคิดเห็นของลูกหลานในแต่ละ Generation เพื่อนำมาปรับปรุงบริษัทให้ทันสมัย และนำเทคโนโลยีหรือระบบใหม่ ๆ มาพัฒนาบริษัทมากขึ้น

5. ความขัดแย้งกับการคาดหวังของคนในครอบครัวมากเกินไป คนในครอบครัวเดียวกันสามารถใช้งานได้ตลอดเวลาโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ผู้บริหารต้องรู้จักเวลาว่าเวลาไหนควรสั่งให้ทำอะไรเเละเวลาไหนเป็นเวลาส่วนตัว

6. ความขัดแย้งที่เกิดจากโครงสร้างครอบครัว และโครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว เวลาที่คนในครอบครัวทะเลาะกันหรือมีปัญหา คนในครอบครัวบางคนก็อาจจะนำความลับของคนอื่นมาเปิดเผยได้ เเละอาจจะทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาในภายหลัง

7. ความขัดแย้งจากข้อมูลในครอบครัว ข้อมูลที่รับรู้ไม่เท่ากัน การปิดบังข้อมูล หรือเปิดเผยไม่หมด หรือขาดการสื่อสารที่ดีพอ ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งได้

8. ความขัดแย้งที่เกิดจากผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ การที่จะป้องกันกรณีพิพาทเรื่องผลประโยชน์นี้ เป็นเรื่องที่จะต้องมีการสร้างข้อตกลงกันตั้งแต่การจัดโครงสร้างธุรกิจให้รองรับความยั่งยืนและส่งต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้โดยไม่มีข้อขัดแย้งในรูปของบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นหัวข้อที่ต้องศึกษากันอย่างจริงจัง การจัดการเรื่องหุ้นเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจัดการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคนมากที่สุด การกระจายหุ้นตอนยังมีชีวิตอยู่จะได้เห็นว่าลูกแต่ละคนมีการบริหารจัดการธุรกิจไปในทิศทางใด ถ้าพ่อแม่กลัวเสียอำนาจการตัดสินใจในธุรกิจก็พิจารณาถือหุ้นบุริมสิทธิ์ที่มีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าได้ ในธรรมนูญครอบครัวจะเป็นการสร้างข้อตกลงเรื่องของโอน ซื้อ ขายหุ้นกันด้วยวิธีอะไรที่จะไม่ทำให้หุ้นต้องหลุดมือไปสู่บุคคลภายนอก

9. ความขัดแย้งที่มาจากทัศนคติ บุคลิกภาพ ค่านิยมส่วนบุคคล ความขัดแย้งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าแต่ละคนมีความต่างทางด้านความคิด ทัศนคติ ตัวอย่างเช่น การดูว่า มุมมองคนในครอบครัวมีความแตกต่างกันมากน้อยอย่างไร โดยตั้งคำถามว่า เราจะให้น้ำหนักอะไรมากกว่ากันระหว่าง ความอบอุ่นในครอบครัวจะทำให้ธุรกิจเข้มแข็ง หรือธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ให้ทุกคนลองวาดวงกลม 2 วง วงหนึ่งคือครอบครัว อีกวงคือ ธุรกิจครอบครัว ใครคิดว่าอันไหนสำคัญก็วาดวงนั้นใหญ่กว่าอีกวง ผลที่ได้จากสมาชิกแต่ละคนจะให้น้ำหนักหรือขนาดวงกลมที่ต่างกันแน่นอน

10. ความขัดแย้งของช่องว่างระหว่างวัย โดยผู้บริหารรุ่นปัจจุบันยังไม่มั่นใจว่าทายาทของพวกเขาจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะขึ้นมาบริหารกิจการครอบครัวแทน

11. ความขัดแย้งในการสื่อสาร ธุรกิจครอบครัวต้องแยกแยะความสัมพันธ์ส่วนตัวภายในครอบครัวออกจากเรื่องงาน และต้องมีการสื่อสารกันอย่างชัดเจนในเรื่องดังกล่าว เพราะความไม่ชัดเจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคตได้

จากหัวข้อที่กล่าวมาข้างต้นหากธุรกิจครอบครัวขจัดจุดอ่อน ความเสี่ยงและภัยคุกคามที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่ประสบความสำเร็จได้ ยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจ และหากทำให้ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กประสบความสำเร็จทัดเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจมหาชน เมื่อพูดถึงการเอาธุรกิจครอบครัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำการแปรสภาพจากบริษัทธรรมดาเป็นบริษัทมหาชน สมาชิกครอบครัวคงต้องคิดกันอย่างหนักเพราะถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ซึ่งจะมีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทไปอย่างถาวร และจะมีคนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการบริหารกิจการของครอบครัวมากขึ้น ยังไม่นับรวมการที่เอาบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้นก็มีขั้นตอนกระบวนการหลายขั้นตอน และมีต้นทุนอีกมากมายทั้งการจัดจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน การปรับโครงสร้างของบริษัททางกฎหมายให้เหมาะสม และที่สำคัญคือการจัดโครงสร้างทางบัญชีใหม่ ตลาดหลักทรัพย์เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการสืบทอดกิจการครอบครัว

“ธุรกิจครอบครัวมีทางเลือกหลากหลายทางในการสืบทอดธุรกิจของตระกูล ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวก็คือการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่ง (Wealth) รวมถึงชื่อเสียง (Legacy) ที่บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวได้สร้างสมมาจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อมองลึกลงไปในเป้าหมายของการรักษาและถ่ายทอดความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น ทางเลือกต่าง ๆ ของธุรกิจครอบครัวก็มีตั้งแต่การผลักดันให้ลูกหลานก้าวขึ้นมารับช่วงสืบทอดกิจการ หรือการหามืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน ไปจนถึงการขายกิจการครอบครัวซึ่งถือเป็นวิธีแปลงความมั่งคั่งในรูปของธุรกิจไปอยู่ในรูปของตัวเงินแทน โดยการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นทางเลือกที่อยู่ระหว่างกลางของขั้วทั้งสอง”

 

การนำธุรกิจครอบครัวสู่ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีและข้อเสียต่างกัน 

ข้อดี-ข้อเสีย ของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

ประเภทธุรกิจ

ข้อดี

ข้อเสีย







ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์


เป็นแหล่งระดมเงินทุน เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการ ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และเป็นวิธีในการลดหนี้ทางหนึ่ง


สัดส่วนความเป็นเจ้าของลดลง ต้องแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ


กู้เงินได้โดยไม่ต้องใช้บุคคลค้ำประกัน


ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์ และหน่วยงานตรวจสอบอื่น ๆ ซึ่งอาจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น


ความน่าเชื่อถือดีขึ้นในสายตาของผู้ให้เงินกู้ คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสังคม สามารถดึงดูดคนดีมีความสามารถเข้ามาร่วมงาน รวมถึงอาจดึงดูดให้ลูกหลานอยากร่วมงานมากขึ้นด้วย


ต้องเปิดเผยข้อมูลบางส่วนของบริษัท และการเข้ามาตรวจสอบโดยองค์กรกลางต่าง ๆ เช่น ก.ล.ต. / สูญเสียความอิสระในการบริหารงานไป






ธุรกิจครอบครัว


เป็นทางออกจากธุรกิจ หากสมาชิกครอบครัวไม่ต้องการถือหุ้นอีกต่อไป (ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์)


หุ้นกระจายออกจากมือของสมาชิกครอบครัวง่าย ควบคุมได้ยาก เสี่ยงต่อการถูก Hostile Takeover


ราคาหุ้นถูกกำหนดโดยตลาด ไม่ต้องมาถกเถียงกัน ลดประเด็นความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัว


มูลค่าธุรกิจครอบครัวผันแปรไปตามสภาวะของเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับตัวธุรกิจเลย


การบริหารงานมีความโปร่งใส ชัดเจน มี ‘กรรมการกลาง’ ช่วยลดประเด็นความขัดแย้งภายในครอบครัว


กระบวนการตัดสินใจมีขั้นตอนมากขึ้น การตัดสินใจอาจช้าลง

 

ผู้เขียน: นายปัณณวิชญ์ บุญเลิศ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายใน บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

Last modified on Tuesday, 21 December 2021