News

| Wednesday, 07 December 2016 |

บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อให้บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยมีหลักการ ดังนี้


1. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ทั้งนี้ บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องจัดทำบัญชีด้วยสกุลเงินต่างประเทศซึ่งเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชี

2. เพิ่มอัตราแลกเปลี่ยนที่ให้ใช้ในการแปลงค่า โดยสามารถใช้อัตราถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทย (อัตรากลางของ ธปท.) และสามารถใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ประมาณขึ้นซึ่งใกล้เคียงกับอัตราแลกเปลี่ยนจริง ณ วันที่เกิดรายการได้ด้วย

3. การแปลงค่าเงินตรา หนี้สินและทรัพย์สินที่เหลืออยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายก่อนเปลี่ยนการบันทึกรายการเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทย หรือการแปลงค่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ให้แปลงค่าโดยใช้วิธีการตามมาตรฐานการบัญชีและได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี

ทั้งนี้ กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการแปลงค่าในกรณีการเปลี่ยนสกุลเงินในการจัดทำบัญชีนี้ไม่ให้ถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

4. การกรอกแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลกำหนดให้ใช้สกุลเงินไทย โดยในการแปลงค่าสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทยเป็นสกุลเงินไทยเพื่อกรอกแบบฯ และชำระภาษี ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทย (อัตรากลางของ ธปท.) ตามช่วงเวลาที่เกิดรายได้และรายจ่ายนั้น เช่น การยื่นแบบแสดงรายการภาษีประจำปี ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยฯ ของทั้งปี และ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีครึ่งปี ให้ใช้อัตราถัวเฉลี่ยฯ 6 เดือนที่เกิดรายได้ รายจ่าย เป็นต้น

5. ผลขาดทุนสุทธิยกมาและเครดิตภาษี (ถ้ามี) สามารถนำมาใช้ในการชำระภาษีต่อไปได้ โดยไม่ต้องแปลงค่าเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการดำเนินงานที่มิใช่สกุลเงินไทย

6. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะใช้สกุลเงินต่างประเทศในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือต้องการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการแปลงค่าสกุลเงินต่างประเทศ ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร


ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ลดความแตกต่างระหว่างมาตรฐานการบัญชีไทยและแนวปฏิบัติทางภาษี และช่วยลดภาระต้นทุนในการจัดทำรายงานทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดเก็บภาษีที่ดี รวมถึงลดอุปสรรคในการดำเนินงานของ IHQ เพื่อจูงใจให้บรรษัทข้ามชาติมีการจัดตั้ง IHQ ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และการลงทุนของภูมิภาค และส่งผลให้ธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการและทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมีความสะดวกมากขึ้น โดยสามารถใช้อัตราเดียว (Single Rate) ในการแปลงค่าในทุกกรณี

 

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สภาวิชาชีพบัญชีฯ 

หากท่านมีความสนใจบริการของตรวจสอบภายใน สามารถติตต่อได้ที่

เบอร์ 02-5878080 ต่อ 209 ด้วยความยินดียิ่ง

Last modified on Thursday, 23 August 2018