ข่าวสาร

| วันศุกร์, 14 กันยายน 2561 |

OKR ตัววัดผลน้องใหม่ไฟแรงแซง KPI ?

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้พนักงานออฟฟิศทุกคนคงจะขยาดเมื่อได้ยินคำว่า KPI เพราะคำ ๆ นี้มักตามหลอกหลอนพนักงานออฟฟิศในทุก ๆ ไตรมาส

เพราะอะไรนะหรือ คำตอบง่ายๆ ก็คือ KPI มันคือตัวชี้วัดผลการทำงานของเรา ๆ นั่นเอง แต่ในปัจจุบันเหมือนจะมีข่าวดีให้เราไม่ต้องพะวงและผวากันอีกต่อไปกับการโดนวัดผลการดำเนินงาน แต่นั่นมันก็เป็นเพียงข่าวลือที่ทำให้เราดีใจได้ชั่วขณะ เพราะน้องใหม่ไฟแรงของการวัดผลนั่นยังคงเป็นการวัดผลการทำงาน เพียงแต่นำวัตถุประสงค์มาใช้ให้ชาวเราทราบว่าต้องทำอย่างไรให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือองค์กรมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานอย่างไรในแต่ละปี ซึ่งน้องใหม่ไฟแรงของการวัดผลที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เราเรียกว่า OKR (Objective and Key Results) นั่นเอง

รูปแบบหรือกรอบแนวคิดของ OKR คือ การตั้งเป้าประสงค์หรือจุดประสงค์ของทั้งองค์กรเพื่อเชื่อมและวัดผลของผลลัพธ์ เพื่อจัดทำกรอบแนวคิดที่สำคัญเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานทั้งองค์กรทำงานร่วมกันในทิศทางเดียวกับจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ เพื่อมุ่งเน้นความพยายามของการกระจายการวัดผลไปสู่พนักงานทั่วทั้งองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

ความหมายของ OKR

OKR หรือ objective key result วิธีการตั้งเป้าหมายเพื่อวัดผลความสำเร็จโดย

1) การกำหนด objective หรือวัตถุประสงค์ที่เราต้องการทำให้สำเร็จ

2) การกำหนด key result หรือผลลัพธ์ที่จะวัดเพื่อให้รู้ว่า เราบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้ง

 

เทคนิคตั้งเป้าหมายของ OKR

การกำหนด OKR Objectives ที่ดีควรมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพ (qualitative)

2. สร้างแรงบันดาลใจ (meaningful & inspirational

3. ต้องมีความทะเยอทะยาน (ambitious & somewhat uncomfortable)

 

Key Results

ในส่วนของ Key Results ที่ดีควรจะมีคุณสมบัติดังนี้

1. เป็นผลลัพธ์ ไม่ใช่การกระทำ (results, not activities)

2. วัดผลได้ชัดเจน (quantitative)

3. มีโอกาสทำสำเร็จแค่ 50%

 

OKR กันทุก 3 เดือน : เพราะในปัจจุบันโลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การตั้ง OKR ทุก 3 เดือนจึงเหมาะสมต่อธุรกิจให้เปลี่ยนทิศทางหรือปรับยุทธศาสตร์ได้คล่องตัวกว่าการตั้ง objectives แบบเดิมที่ทำกันแค่ปีละครั้ง

พนักงานหนึ่งคนควรจะมี OKR ไม่เกินคราวละ 3 ข้อ : การจำกัดให้แต่ละคนมี OKR ไม่เกิน 3 ข้อก็เพื่อที่จะช่วยรักษาโฟกัสไม่ให้พนักงานพยายามทำหลายอย่างเกินไป โดย OKR ทั้ง 3 ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องครอบคลุมงานทุกอย่างที่เราทำ แต่จะมุ่งไปที่งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เพื่อให้แน่ใจว่างานเหล่านี้จะไม่ถูกกลบด้วยงานจิปาถะหรืองาน routine

ครั้งหน้าเราจะยกตัวอย่างการจัดทำ OKR เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นครับ

 

ผู้เขียน : คุณเพิ่มทรัพย์ เวชสุกรรม รองผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบ บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

 

++++++++++++++++++++++++++++