News

| Friday, 22 April 2022 |
Written by 

การเตรียมตัวยื่นแบบประเมินตนเองเพื่อพัฒนาระบบต่อต้านคอร์รัปชัน และเข้าขอรับรองจาก CAC

แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption หรือ CAC) เป็นความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ในการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการคอร์รัปชัน ด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่าง ๆ กําหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการเรียกรับและให้สินบน รวมถึงการคอร์รัปชันระหว่างองค์กรเอกชน

 

เกี่ยวกับการแบบประเมิน

           
คณะกรรมการและฝ่ายบริหารของบริษัท ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเสี่ยง มาตรการควบคุมและการกำกับดูแลเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในองค์กร และได้เห็นชอบให้บริษัทเข้าร่วมโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ซึ่งบริษัทต้องดำเนินการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาระบบต่อต้านคอร์รัปชันตามแบบประเมินที่กำหนด และได้รับการรับรองไปแล้วนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี บริษัทได้ดำเนินการเพื่อรับรองให้มีผลต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทสามารถเสริมสร้างระบบและตรวจสอบ นโยบาย การประเมินความเสี่ยง มาตรการควบคุม บุคลากร การสื่อสาร ช่องทางการร้องเรียน และปรับปรุงระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อภัยคอร์รัปชันและสร้างความโปร่งใสภายในองค์กร ตามแบบประเมินตนเองฉบับปรับปรุง (4.0) ซึ่งมีการปรับปรุงให้มีการประเมินเกี่ยวกับ

  1. การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก (Facilitation Payment)
  2. การสนับสนุนพรรคการเมือง (Political Contribution)
  3. การจ้างพนักงานรัฐ (Revolving Door)
  4. การขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (Conflict of Interest)
  5. การติดตามและการทบทวน (Mornitoring)

 

 

แบบประเมินตนเองเกี่ยวกับมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันของแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) นี้ จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้า CAC แบบสมัครใจ โดยมาตรการนี้ได้จัดทำมาจากบางส่วนของ Business Principles for Countering Bribery ซึ่ง Transparency International เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2545 และได้รับการทบทวนต่อมาในปี 2552

ในการจัดทำ Business Principles for Countering Bribery นั้น ทาง Transparency International ได้หารือกับผู้มีส่วนได้เสีย อันประกอบด้วย ตัวแทนบริษัทต่าง ๆ จากสมาคมธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน และสมาคมการค้า ที่ปรึกษาต่าง ๆ แล้ว ดังนั้น CAC จึงขอสนับสนุนให้บริษัทนำมาตรการนี้ไปใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนามาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันของตนเอง หรือเป็นเครื่องมือเปรียบเทียบกับสิ่งที่บริษัทปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันเช่นกัน

 

สิ่งที่ทางแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย ให้ความสำคัญในการพิจารณาแบบประเมินเพื่อรับรอง ได้แก่


1. บริษัทได้จัดทำแบบประเมินและตอบ “มีแล้ว” ทุกข้อ

2. ความชัดเจนของเอกสารอ้างอิง ซึ่งจะบอกถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ของสิ่งที่บริษัทได้จัดทำ

3. การสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารระดับสูง อันได้แก่ ประธานกรรมการ กรรมการ และประธานฝ่ายบริหาร

4. การนำมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการ นโยบาย ข้อปฏิบัติ การอบรม การสื่อสาร ไปปฏิบัติจริงทั้งภายในและภายนอกองค์กร สอดคล้องกับบริบทและระดับความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน        ขององค์กร

5. การมีระบบตรวจสอบภายในที่ใช้ตรวจสอบและกระดาษทำการ (สำหรับบริษัทที่ผ่านการรับรอง 3 ครั้ง เป็นต้นไป)

 

ทั้งนี้ บริษัทควรจัดเตรียมและส่งเอกสารอ้างอิง เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ต้องประเมินในประเด็นเกี่ยวข้องกับด้านคอร์รัปชัน ตัวอย่างเช่น นโยบาย คู่มือ แผนงาน รายงานการประชุม ประกาศ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ “สิ่งที่ต้องประเมิน” ในประเด็นการต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน ซึ่งบริษัทสามารถใช้บริการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาระบบต่อต้านคอร์รัปชันตามโครงการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการขอยื่นรับรองเข้าแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย

 

ขั้นตอนการยื่นขอรับรอง


ภายหลังจากที่บริษัทลงนามประกาศเจตนารมณ์เข้าแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) แล้ว บริษัทจะมีเวลา 18 เดือน ในการเตรียมยื่นขอรับรองนับจากวันที่ประธานกรรมการลงนามในเอกสารประกาศเจตนารมณ์ โดยเมื่อบริษัทพร้อมที่จะยื่นรับรองแล้ว บริษัทควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้


1. ให้คณะกรรมการตรวจสอบสอบทานข้อมูลทั้งหมดในแบบประเมินตนเอง และให้ประธานคณะกรรมการตรวจสอบลงนามรับรอง หรือ ในกรณีที่บริษัทไม่มีประธานกรรมการตรวจสอบ

  • ให้ผู้สอบบัญชีของบริษัททำการประเมินแบบประเมินตนเอง และออกรายงานเพื่อนําส่งประธานคณะกรรมการบริษัท หรือ
  • แต่งตั้งผู้สอบบัญชีอื่นทำการประเมินแบบประเมินตนเอง และออกรายงานเพื่อนําส่งประธานคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีที่แต่งตั้งนี้ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2. ให้ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานฝ่ายบริหาร (CEO) ลงนามในแบบประเมินตนเอง

3. นําส่งเอกสารแบบประเมินในภาคผนวกนี้ฉบับจริง รวมถึงเอกสารแบบประเมิน เอกสารอ้างอิงแบบประเมินแต่ละข้อ ที่เป็นไฟล์ Adobe PDF และตารางความเสี่ยงในรูปแบบไฟล์            Microsoft Excel ใส่ใน Flash Drive รวมถึงรายงานของผู้สอบบัญชี (ถ้ามี) ให้ CAC

4. ทาง CAC จะปิดรับเอกสารทุกวันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส (31 มีนาคม, 30 มิถุนายน, 30 กันยายน และ 31 ธันวาคม) เพื่อรวบรวมเอกสารของบริษัทที่ขอรับการรับรองในไตรมาส        นั้นๆ และนําเสนอคณะกรรมการ CAC เพื่อพิจารณา  โดย CAC จะประกาศผลในวันสุดท้ายของไตรมาสถัดไป

5. หากบริษัทไม่ผ่านการรับรอง ในกรณีที่เป็นการยื่นขอรับรองครั้งแรกของบริษัท บริษัทสามารถแก้ไขเอกสารได้และยื่นกลับภายใน 6 เดือน หลังวันที่ครบกำหนด 18 เดือน สำหรับใน      กรณีที่บริษัทกําลังยื่นขอต่ออายุการรับรอง บริษัทจะควรยื่นต่ออายุการรับรอง 6 เดือน ก่อนวันหมดอายุการรับรอง

6. คณะกรรมการ CAC จะขอสงวนสิทธิในการเชิญบริษัทมาพบเพื่อตอบข้อซักถามเพิ่มเติมและ/หรือปฏิเสธการให้ประกาศนียบัตรรับรอง ตามหลักการของแนวร่วมฯ ที่ได้จัดทำไว้และ      สามารถ download ได้ที่ thai-cac.com/resource_post/cac-principals-thai-version/

 

ที่มา https://www.thai-cac.com/resource/ 

เรียบเรียงโดย นางสาวภาวิณี ศิริเกตุ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนก 11 บริษัท ตรวจสอบภายในธรรมนิติ จำกัด

 

Last modified on Tuesday, 17 May 2022